บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ผู้เขียน: พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์
พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” บนพระเครื่อง (๒)
กล่าวถึง พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการยิ่งใหญ่ เป็นมหาราชของแผ่นดินไทย ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน ได้รับการยกย่องสรรเสริญและเทิดพระเกียรติจากทั่วโลก เมื่ออัญเชิญมาประดิษฐานบนพระบูชา พระเครื่อง และเหรียญต่างๆ ซึ่งทรงคุณอเนกอนันต์อยู่แล้ว ย่อมสร้างความสิริมงคลและมหามงคลสูงส่งอย่างหาที่สุดมิได้
การจะอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” มาประดิษฐานบนวัตถุมงคล ไม่ว่าจะเป็น พระบูชา พระเครื่อง หรือ เหรียญ นั้น ส่วนใหญ่จะมีขึ้นในโอกาสอันสำคัญๆ อาทิ ครบรอบพระชนมพรรษา หรือสถาปนาพระอาราม เป็นต้น และการจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐานบนพระเครื่องนั้น จะต้องทำหนังสือเป็นทางการผ่านสำนักพระราชวัง มีมูลเหตุแห่งการขอพระราชทาน และรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน
เมื่อทางสำนักพระราชวังตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว จึงนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรหรือไม่ จากนั้นทางสำนักพระราชวังก็จะทำหนังสือตอบมายังผู้ขอต่อไป วัตถุมงคลที่ผ่านพระบรมราชวินิจฉัย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐานบนพระเครื่องนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธีเททองหล่อทั้งสิ้น
วัตถุมงคลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ในสมัยพระองค์ เรียกว่ามีมากพอสมควร ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเปี่ยมด้วยเมตตายิ่งใหญ่ ทรงตระหนักถึงความจงรักภักดีของปวงประชาที่ต้องการเก็บรักษาสิ่งมงคลในพระองค์ไว้สักการบูชา อาทิ
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี
นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร ประดับเหนือผ้าทิพย์ของพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างผู้ชำนาญออกแบบ โดยนำศิลปะที่โดดเด่นของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน และลังกามาผสมผสานกัน และได้พระราชทานภาษิตจารึกที่ฐานว่า “ทยฺยชาตฺยา สามคฺคยํ สติสญฺชาเนน โภชสิยํ รกฺชนฺติ” (คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี) นับเป็นพระพุทธรูปแบบพิเศษที่งดงามและพร้อมสรรพด้วยสัญลักษณ์แห่งศาสนาและพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์)
เหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
สร้างขึ้นในช่วงของ “ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี” โดยวัดบวรนิเวศวิหาร และสภากาชาดไทย ร่วมกันดำริสร้างอาคาร ๔ ชั้น ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำหรับพระภิกษุ-สามเณรที่อาพาธ และมีมติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้นามอาคารว่า “วชิรญาณวงศ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ในการนี้ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก ด้านหนึ่งเป็นพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ อีกด้านหนึ่งได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ประดิษฐานไว้ พร้อมกับขอพระราชทานให้การสร้างอาคารดังกล่าวอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุกประการ จึงได้จารึกอักษรไว้ในเหรียญว่า “รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ร.พ.จุฬา ลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์”
เหรียญพระชัยหลังช้าง หลัง ภปร ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร
เป็นเหรียญที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ในนามคณะสงฆ์ จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา ด้านหน้าเป็นรูปพระชัยวัฒน์ ที่เรียกกันว่า “พระชัยหลังช้าง” ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” มีอักษรปรากฏบนเหรียญว่า “๕ ธันวาคม ๒๕๓๐” และ “คณะสงฆ์สร้างในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ” ประการสำคัญยิ่งอีกประการคือ สมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ ร่วมพิธีปลุกเสก ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (วาส) วัดราชบพิธฯ และสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในกาลต่อมา (พ.ศ. ๒๕๓๒)
ยังมีวัตถุมงคลอีกมากมาย ทั้งพระบูชา พระเครื่อง และเหรียญพระพุทธ เหรียญพระสงฆ์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐาน อันนับเป็นมหามงคลและสิริมงคลสูงส่ง
ซึ่งจะแสวงหาข้อมูลมานำเสนอในโอกาสต่อไปครับผม