บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัตถุมงคลอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ตอนที่ ๑
“วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” หรือ “วัดระฆังฯ” ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่าแก่สร้าง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางว้าใหญ่”
ในอดีต สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์และยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดแห่งนี้
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในระหว่างการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง มีเสียงไพเราะมาก จึงทรงให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว โดยทรงสร้างระฆัง ๕ ลูก มาไว้ที่วัดแทน แล้วพระราชทานนามว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
แต่ด้วยกาลเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลายาวนาน วัดระฆังโฆสิตาราม อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม สมควรที่จะทำนุบำรุง ปรับปรุงบูรณปฏิสังขรณ์ให้ดี
แต่ทั้งนี้ การทำให้สำเร็จตามที่ดำริไว้ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งวัดจะต้องจัดหาเงินขึ้น ด้วยกุศลเจตนาอันบริสุทธิ์ และด้วยบุญบารมีของเจ้าประคุณ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กระทั่งชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า “สมเด็จฯ โตวัดระฆัง”
ดังนั้น วัดระฆังโฆสิตาราม จึงได้จัดสร้าง “วัตถุมงคลอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม” เนื่องในการบำเพ็ญกุศลและเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ ๑๐๐ ปี แห่งมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง โฆสิตาราม ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕
วัตถุมงคลที่ดำเนินการจัดสร้างครั้งนี้ ประกอบด้วย
๑. ”พระพุทธรูปบูชา”
จำลองจาก “พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม” จัดสร้าง ๒ ขนาด คือ ขนาด ๙ นิ้ว มีจัดสร้างด้วย เนื้อนวโลหะ จำนวน ๘๕ องค์ ตามอายุของเจ้าประคุณสมเด็จ พระพุฒาจารย์ (โต) และจัดสร้างด้วยเนื้อโลหะผสม ๕๑๕ องค์ ตามปี พ.ศ. ที่ครบ ๑๐๐ ปี และขนาดหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว เนื้อโลหะผสม ๕๑๕ องค์ พระพุทธจำลองจากพระประธานออกแบบปั้นโดย นายโต ขำเดช ที่ปั้นด้วยความละเอียดประณีตวิจิตรบรรจงเพื่อให้เหมือนพระประธานในวัดระฆังฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
๒. ”พระรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)”
จัดสร้าง ๒ ขนาด หน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม ๕๑๕ องค์ และขนาดหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว เนื้อโลหะผสมไม่จำกัดจำนวน ตามที่มีผู้สั่งจอง นอกจากนี้ ยังสร้างองค์ใหญ่ขนาดเท่าองค์จริงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ออกแบบปั้นโดย อาจารย์สนั่น ศิลากร แห่งคณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์และภาพไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เอกของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และมอบหมายให้นายบุญเรือน หงส์มณี เป็นผู้ดำเนินการหล่อ
๓. ”พระกริ่งพิมพ์พระประธาน”
จำลองจากองค์พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ฐานกว้าง ๒.๒ ซ.ม. สูง ๓.๒ ซ.ม. เนื้อทองคำ จำนวน ๕๑๕ องค์ นวโลหะ จำนวน ๕,๐๐๐ องค์ และเนื้อเงิน ไม่ทราบจำนวน นอกจากพระกริ่งพิมพ์พระประธาน ยังมีพระชัยวัฒน์ ซึ่งมีขนาดย่อมลงมา โดยมิได้บรรจุเม็ดกริ่ง ออกแบบแกะแม่พิมพ์โดยนายช่างเกษม มงคลเจริญ
๔. ”พระเครื่องพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก”
ออกเป็น ๓ แบบพิมพ์ คือ “พิมพ์ใหญ่ทรงนิยม” อันเป็นพิมพ์ดั้งเดิมของวัดระฆังฯ “พิมพ์สมเด็จคะแนน” เป็นพิมพ์ใหญ่แต่ย่อส่วนให้เล็กลง ซึ่งเป็นพิมพ์ดั้งเดิมของวัดระฆังฯ และ “พิมพ์พระรูปเหมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต” นั่งอยู่ภายในลายเส้นขอบเป็นทรงระฆัง เพื่อคงเอกลักษณ์ของชื่อวัดไว้ แต่ละพิมพ์จัดสร้างจำนวนพิมพ์ละ “๘๔,๐๐๐ องค์” เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ อยู่ในความรับผิดชอบของพระครูใบฎีกา โชคชัย และนายช่างเกษม เป็นผู้ดำเนินการแกะแม่พิมพ์