บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสด | เผยแพร่เมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ผู้เขียน: อนงค์ จันทร / อฑิตยา เพาะปลูก
เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ ๕๔ คณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์และศิลปะไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำดีถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับการรวมกลุ่มของศิษย์เก่า วาดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร “พล่ากุ้ง” วรชาติ ธรรมวิจินต์ พิธีกรรายการ อิงลิช สะกิดต่อมฮา ช่อง ๘ ที่ได้ไปร่วมแรงร่วมพลังใช้วิชาที่ร่ำเรียน ได้พูดคุยถึงความรู้สึกในครั้งนี้
“ดีใจหาที่สุดมิได้ที่ได้เกิดในรัชกาลที่ ๙ ได้เป็นลูกของพ่อ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด พระองค์ทรงงานเพื่อชาวไทยอย่างหนักมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อให้พวกเราได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งผมได้กลับไปในที่ที่สร้างให้ผมเป็นพล่ากุ้งได้ในทุกวันนี้ นั่นคือมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคณบดี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ส่งข้อความมาบอกศิษย์เก่า อยากให้มารวมตัวกันเพื่อวาดภาพของในหลวงถวายให้กับท่าน”
“สำหรับภาพของรุ่นผมเป็นภาพพระเจ้าอยู่หัวอุ้มทารกคนนึงก็คือพระองค์ภา เพื่อนที่เลือกรูปเขาเพิ่งจะมีลูก เขาคงรู้สึกว่าเขาเป็นพ่อคนแล้ว เขาได้สัมผัสแล้ว และพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าในหลวงท่านทรงทำหน้าที่พ่อของครอบครัวของท่าน ท่านเป็นพ่อ เป็นปู่เป็นคุณตา แล้วท่านยังเป็นพ่อของลูกๆ ทั้งประเทศอีก ๗๐ กว่าล้านคน ซึ่ง ๒ ส่วนนี้ ท่านทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมหมดจด อยากให้มองย้อนว่าลูก ๗๐ ล้านคน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้เยอะขนาดไหน แค่ลูก ๒-๓ คน ในบ้านของคุณยังวุ่นวาย แต่นี่ ๗๐ ล้านคน แต่พ่อเลี้ยง พ่อสั่งสอน พ่อทำตัวอย่างให้กับพวกเราได้ดำเนินรอยตามแบบนี้ยากมาก”
“ผมเคยกลับบ้านเดือนนึงครั้งเดียว แม่ถามว่าทำไมไม่กลับ ผมบอกว่างานยุ่งไม่มีเวลา พอผมเจอเหตุการณ์ตรงนี้ผมมองย้อนตัวเอง ผมผิด ผมใช้ไม่ได้ ผมต้องแบ่งเวลาให้ครอบครัว ครอบครัวต้องใหญ่ที่สุด ไม่ใช่งานสำคัญกว่าครอบครัว หลังจากนี้ผมเปลี่ยนความคิด ต้องเอาครอบครัวเป็นหลัก ภาพนี้ที่รุ่นผมเขียน เป็นภาพของผู้ปกครองที่ให้ความอบอุ่น ให้ความเมตตา กับผู้ในปกครองของเขา ก็คือพ่อกับลูก”
กลับมาวาดภาพครั้งนี้ พล่ากุ้งยอมรับว่าต้องมีเคาะสนิมฟื้นวิชากันบ้าง โดยเล่าว่า “ผมเรียนเอกจิตรกรรม คือวาดรูป แต่ผมจบมาทำงานบันเทิง ทุกคนที่จบคณะนี้ทุกคนต้องวาดรูปเป็น บางคนก็เป็นอาชีพหลัก แต่วันนี้เรากลับมาใช้วิชาชีพที่เคยศึกษามาแสดงออกในครั้งนี้ คือการวาดภาพ ซึ่งคนที่มาแต่ละท่านไม่ได้เป็นเพ้นเตอร์อาชีพเลย เป็นครีเอทีฟรายการทีวี คอมพิวเตอร์ ทุกคนร้างลาไปประมาณ ๑๐ ปี ก็ถือว่าช่วงแรกต้องเคาะสนิมกัน แต่ว่าเรามีแรงกดดันที่พอหันไปข้างๆ โอ้โห … รุ่นพี่ โอ้โห … อาจารย์ มันมีแรงกระตุ้น ก็เรียกวิชากลับมาให้ได้ ผมก็ช่วยเท่าที่ผมช่วยได้ เป็นงานที่เกิดจากความสามัคคี และเกิดจากพลังของคนที่อยากจะทำงานเพื่อใครสักคนอย่างแท้จริงโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”
พล่ากุ้งเล่าถึงบรรยากาศในช่วงที่ร่วมแรงร่วมพลังใจกันว่า “ผมมาวันที่สอง วันแรกมี ๕ คน วันที่สองก็มีอีก ๕ คนมา จะเป็นภาพตั้งทั่วหน้าคณะ มีหลากหลายรุ่นเลย ผมเข้ามาก็โอ้โห … วาดกันขนาดนี้เลย ศิลปินระดับชาติมายืนวาดเคียงข้างพวกเรา เป็นการวาดที่ดิบ ปกติต้องอยู่ในสตูดิโอ มีการเตรียมตัว แต่นี่มาแบบจานสียังเป็นฝากล่องแล้วเอาถุงพลาสติกคลุม ฉุกละหุกมาก เวลาเราวาดจะมีพี่น้องประชาชนมาถ่ายรูปด้านหลังเลยทั้งที่ยังวาดไม่เสร็จ ส่วนใหญ่จะเป็นการชื่นชม ผมว่าทุกคนที่มาวาดวันนั้นคิดเหมือนกันหมดว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญของศิลปินวาดภาพที่ครั้งหนึ่งได้วาดงานถวายในหลวง ช่วง ๕ ปี ที่ผมเรียนคณะจิตรกรรม ผมไม่เคยวาดภาพในหลวงเลย ทุกคนวาดภาพในแนวทางการเรียนของเรา ภาพวิว วาดคน แต่วันนั้นที่ทุกคนมาที่ศิลปากร ภาพที่ปรากฏในเฟรมทุกคนคือในหลวง รัชกาลที่ ๙”
ความภาคภูมิใจที่ได้วาดรูปครั้งนี้ พล่ากุ้งเผยว่า “การมาวาดภาพที่ศิลปากรในครั้งนี้มากกว่าความภูมิใจ มากกว่าเกียรติยศ มากกว่า ผลงานที่ออกมาประจักษ์ต่อสายตาทุกคน ผมรู้สึกว่าผมอิ่มเอมใจแต่ก็ปนความเศร้าเสียใจ เป็นความรู้สึกของการถวายงานที่เราดีใจแต่ก็เป็นความรู้สึกที่เราไม่อยากให้งานชิ้นนี้มันเกิดขึ้นในภาวะแบบนี้ ทุกคนรู้สึกเหมือนกัน คืออยากทำให้ดีที่สุด แต่คิดย้อนกลับไปถึงต้นเหตุที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น”
พล่ากุ้งเผยถึงความรู้สึกที่มีต่อพ่อหลวงด้วยว่า “ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ต.ค. ผมร้องไห้ทุกวัน ผมไม่คิดว่าจะมีโมเมนต์นี้ในชีวิตผม ผมเชื่อว่าคนไทยอีกเป็นล้านคนเป็นเหมือนผม ทุกวันนี้ยังรู้สึกว่านอนไม่เต็มตา ยังรู้สึกว่าขอให้เป็นแค่ความฝัน ตื่นมาแล้วพระองค์ท่านยังคงอยู่ แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ผมจำคำท่านมา พระบรมราโชวาทที่ผมใช้ และผมอยากให้ทุกคนใช้ คือเข้าใจถึงแกนที่พ่อสอนจริงๆ มีอยู่อันนึงที่พ่อเคยพูดไว้ ความดีทำยาก เห็นผลช้า แต่เราก็ต้องทำ เพราะความชั่วมันทำง่าย และมันเข้ามาเกาะกุมหัวใจเราได้ง่าย ถ้าเราไม่ทำความดี ซึ่งทำยาก แต่เราต้องมีความเพียร ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องให้ใครเห็นก็ได้ ปิดทองหลังพระ สักวันนึงมันจะกลับมา”
“พ่ออยากให้พวกเราเป็นคนดีครับ ผมอยากให้ลูกของพ่อทุกคนทำความดี เอาคำสอนพ่อไปใช้เถอะครับ ผมเป็นพสกนิกรของท่าน เป็นคนไทยที่เกิดในแผ่นดินนี้ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ลำดับต้นๆ ท่านต้องออกไปต่อสู้รบราฆ่าฟันเพื่อจะให้ประเทศไทยมีพื้นที่ให้พวกเราได้เหยียบยืนอยู่ทุกวันนี้ ได้ทำมาหากิน รุ่นหลังอาจจะไม่อิน แต่ผมอยากให้ทุกคนคิดแล้วทบทวนในสิ่งที่พ่อหลวงของเราแต่ละรัชกาลทำไว้ให้ ทุกสิ่งหล่อหลอมมาเป็นประเทศไทย ผมอยากให้คุณเริ่มจากคำว่า รัก อยากจะทะนุถนอม อยากให้มันดี ให้มันเจริญ เริ่มด้วยตัวคุณเอง ไปสู่คนข้างๆ ไปสู่ประเทศ ทุกคนทำดีได้ ผมเชื่อว่าแม้ว่าทำยาก แต่ทุกคนทำได้ครับ” พล่ากุ้งกล่าวฝากทิ้งท้าย