บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ | เผยแพร่เมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๖๐
กระทรวงวัฒนธรรม เปิดตัวแผ่นพับที่ระลึก พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ รวม ๓ รูปแบบ เพื่อแจกผู้เข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ จำนวน ๑๐,๓๐๐,๐๐๐ ฉบับ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ ๕/๒๕๖๐ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก ๒ ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ฉบับประชาชน และคณะอนุกรรมการจัดทำแผ่นพับที่ระลึก พร้อมเปิดตัวต้นฉบับแผ่นพับที่ระลึก ที่จัดทำแล้วเสร็จ ๓ รูปแบบเพื่อแจกผู้เข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ จำนวน ๑๐,๓๐๐,๐๐๐ ฉบับ ประกอบด้วย
แบบที่ ๑ ฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์ จำนวน ๙,๘๐๐,๐๐๐ ฉบับ มีเนื้อหา ๘ หัวข้อ ได้แก่ พระราชประวัติจอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระปรีชาเกริกไกรไปทั่วหล้า พระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชา พระราชดำริพัฒนาเทิดถาวร พระเกียรติยศปรากฏทั่วสากล ดิเรกดลถวายพระเพลิงเถกิงนุสรณ์ พระเมรุมาศสูงส่งอลงกรณ์ และ เจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี
แบบที่ ๒ ฉบับภาษาอังกฤษ ยึดเนื้อหาจากฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์ ๑๐๐,๐๐๐ ฉบับ แจกคณะทูตานุทูต และชาวต่างชาติ
แบบที่ ๓ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ ทศพิธราชธรรม พระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถ พระยานมาศ และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ แจกในงานนิทรรศการภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ระหว่างวันที่ ๑-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เบื้องต้นกำหนดจัดพิมพ์ ๖๐๐,๐๐๐ ฉบับ และจะเพิ่มเติมให้ได้ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับ เพื่อรองรับประชาชนที่คาดว่าจะมาเข้าชมวันละกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน โดยแผ่นพับที่ระลึกออกแบบให้ขนาดพกพาได้สะดวก เหมาะสำหรับนำไปใส่กรอบเพื่อบูชา
ทั้งนี้ ได้คัดเลือกภาพที่มีความสำคัญเป็นภาพประวัติศาสตร์ของชาติ โดยเฉพาะแผ่นพับด้านหน้า อาทิ ภาพขณะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ขณะทรงผนวช ขณะเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนด้านหลังเป็นภาพขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ
นายวีระ กล่าวอีกว่า ขณะที่การจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุรวม ๙ รายการนั้น ในส่วนของจดหมายเหตุฉบับทางการเรียบเรียงเหตุการณ์ได้แล้วกว่า ๒,๐๐๐ หน้า จดหมายเหตุฉบับประชาชน และฉบับสื่อมวลชน คืบหน้าร้อยละ ๓๐ บทกวีนิพนธ์โครงการกานท์กวีคีตการปวงประชาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอยู่ ระหว่างจัดพิมพ์หนังสือชื่อ “พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย” หนังสือและซีดีบทเพลงแสดงความอาลัย คัดเลือกบทเพลงแบ่งเป็นลูกทุ่ง ๙๙ เพลง ไทยสากล ๙๙ เพลง พร้อมจัดทำหนังสือและซีดีในชื่อ “บทเพลงจากดวงใจแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระผู้สถิตในหทัยราษฎร์” จดหมายเหตุฉบับวีดิทัศน์ เสร็จแล้วจำนวน ๙ ตอน หนังสือพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์จัดทำต้นฉบับเสร็จแล้ว ๑๓ พระองค์ ส่วนหนังสือพระเมรุมาศ สมัยรัชกาลที่ ๙ รวบรวมข้อมูลได้แล้ว ๖๓ พระองค์ หนังสือพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพฯ คืบหน้าร้อยละ ๓๐ และหนังสือนวมินทรา ศิรวาทราชสดุดี บทร้อยกรองได้จัดทำต้นฉบับแล้วเสร็จอยู่ระหว่างจัดพิมพ์
ดร.ยอดขวัญ สวัสดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมัฑนศิลป์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า ได้ใช้รูปแบบแนวคิดการก่อสร้างพระเมรุมาศมาออกแบบ อีกทั้งยังยังนำรูปแบบของดอกดารารัตน์ มาจัดทำเป็นรูปแบบกราฟฟิกเป็นส่วนปิดประดับบริเวณด้านบนแผ่นพับ ซึ่งการจัดวางรูปแบบทั้งภาพและเนื้อหาดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบความเรียบร้อยอีกเล็กน้อยก่อนดำเนินการจัดพิมพ์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีดิจิทัล เออาร์โค้ด หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง มานำเสนอรายละเอียดภายในแผ่นพับให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ แอปพลิเคชั่น แซปป้า (Zappar) เพื่อสแกนสัญลักษณ์บนแผ่นพับในการเข้าชมข้อมูล อาทิ วีดิทัศน์สารคดี “ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ประมวลภาพเหตุการณ์งานพระบรมศพ รวมทั้งข้อมูลแผ่นพับที่ระลึกฉบับดิจิทัลทั้ง ๓ รูปแบบ
ส่วนเออาร์โค้ด สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นชื่อ ARZIO เพื่อสแกนแผ่นพับที่ระลึก ในการรับชมภาพ พร้อมเสียงประกอบ รวมทั้งภาพพระเมรุมาศแบบ ๓ มิติ อีกด้วย