บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: คมชัดลึก | เผยแพร่เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔
เรื่อง: ชั่วโมงเซียน โดย ป๋อง สุพรรณ
“พระในหลวง” ในวงการพระเครื่อง หมายถึง พระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเอง และเสด็จฯ เททองหล่อ ซึ่งเป็นพระเครื่องที่ประชาชนต่างเช่าเก็บสะสมเอาไว้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ ภ.ป.ร. พระราชทานสงครามเกาหลี พ.ศ. ๒๔๙๓, เหรียญ ภ.ป.ร.พระราชทานสงครามเวียดนาม, เหรียญทรงผนวช เนื้อขาว วัดราชบพิธ พ.ศ.๒๕๐๗, เหรียญทรงผนวช วัดบวรนิเวศ พ.ศ. ๒๕๐๘, เหรียญหลวงพ่อโสธร หลัง ภ.ป.ร. พ.ศ. ๒๕๐๙, เหรียญพระพุทธชินราช หลังพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. รุ่นแม่ทัพภาค ๓ จัดสร้าง พ.ศ.๒๕๑๗, เหรียญพระชัยหลังช้าง หลัง ภ.ป.ร. คณะสงฆ์สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ
กระแสความต้องการเหรียญ ร.๙ เนื่องจากทุกคนมองว่า พระองค์ท่านมีอภิญญามาก ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ต่างนับถือพระองค์อย่างมาก ตรงนี้เชื่อว่า พระเครื่องที่มีการสร้างออกมาเสมือนเป็นตัวแทนพระองค์ท่าน ให้ประชาชนเคารพนับถือนั้น ต่างได้รับความนิยมทั้งหมด ดูได้จากเสื้อที่มีขายออกมา ตรงนี้ถือว่าพระองค์เป็นสุดยอดในโลกแล้ว
ปัจจุบันเซียนเล็กเซียนใหญ่ต่างก็มีพระในหลวงแขวนติดตัวหรือดูจากผู้หญิงบางคนไม่ได้สะสมพระก็ยังมีพระในหลวงแขวนติดตัว ความนิยมเห็นได้จากโรงกษาปณ์ที่ทำเหรียญ ร.๙ ออกมาเท่าไรก็มีประชาชนไปเช่าหากันจนหมด ที่สำคัญเหรียญหรือพระที่เป็นของท่าน จะสร้างออกมามากจึงไม่แพง ทำให้ทุกระดับชั้นมีโอกาสหาเช่ามาบูชาได้
ส่วนพระเครื่องที่ในหลวงทรงสร้างเองและเสด็จฯ เททองนั้น ในหนังสือ “มหามงคลแห่งแผ่นดิน” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมพระเครื่องที่ในหลวงทรงสร้าง และเสด็จฯ เททอง ซึ่งถือว่าเป็นเล่มที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ไว้ดังนี้
พระเครื่องที่ในหลวงทรงสร้างเอง
ประกอบด้วย พระพุทธนวราชบพิตร, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก พ.ศ. ๒๕๐๘, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก พ.ศ. ๒๕๐๘, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. ๒๕๐๙, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๐, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๑, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๒, พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๓ ใบพระราชทาน (ใบกำกับพระพิมพ์)
สำหรับพระเครื่องที่ในหลวงเสด็จฯ เททอง
ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. วัดเทวสังฆาราม พ.ศ. ๒๕๐๖, พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๘, พระกริ่ง ภ.ป.ร. วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๘, พระพุทธชินราช จำลอง ภ.ป.ร. พ.ศ. ๒๕๑๗, พระบรมรูป ร.๙ ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี รุ่นแรก (กรมราชองครักษ์) พ.ศ. ๒๕๑๖. เหรียญพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๙๓, เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๒, เหรียญที่ระลึกในการเสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐและทวีปยุโรป พ.ศ. ๒๕๐๓, เหรียญมหาราช พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ พ.ศ. ๒๕๐๖, เหรียญพระราชทานเหรียญที่ระลึกสมโภชพระเจดีย์ทอง วัดบวรนิเวศวิหาร (ทรงผนวช), ทรงผนวช เนื้อผง พ.ศ. ๒๕๐๗, แผ่นปั๊มบูชา ทรงผนวช รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๘, เหรียญพระบรมราชสมภพครบ ๔ รอบ พ.ศ. ๒๕๑๘, เหรียญพระมหาชนก พ.ศ. ๒๕๓๙, ล็อกเกตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
ในวโรกาสมหามงคลนี้ ขออัญเชิญคุณแห่งพระสยามเทวาธิราชเทพเทวาผู้พิทักษ์รักษาแผ่นดินและองค์พระมหากษัตริยาธิราช องค์เทพไท้ทั้งปวง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดประทานพรปกป้องอภิบาลให้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของพวกเราทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน … ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
พระแห่งความสามัคคี
“ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ” นี่เป็นข้อความจารึกเป็นภาษาบาลีบริเวณฐานของพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งมีความหมายว่า “คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี”
ประวัติการจัดสร้างพระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริสร้างพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธนวราชบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงกำหนดพระพุทธลักษณะด้วยพระองค์เอง จนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๐๙
นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดตรีทศเทพวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย ขนาดหน้าพระเพลา ๖๑.๙ นิ้ว สูง ๘๙ นิ้ว พระรัศมี ๑๔ นิ้ว ส่วนกว้าง ๓๒ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกและองค์เดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จำลองแบบ “พระพุทธนวราชบพิตร” ที่ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ และประดิษฐาน “พระสมเด็จจิตรลดา” ไว้ที่ฐานบัวหงาย พระราชทานไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นพระประจำจังหวัด โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ดังนี้
“… ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกันในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป …”
ขณะเดียวกัน ทางวัดได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดสร้างเสนาสนะต่างๆ จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเหรียญและพระพิมพ์ “พระพุทธนวราชบพิตร” ด้านหลังประดิษฐานพระปรมาภิไธย “ภ.ป.ร.” ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และมอบเป็นที่ระลึก แก่ศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธา โดยจัดสร้างเป็น เหรียญเนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะ เนื้อเงินแท้ เนื้อทองแดงขัดเงา และพระพิมพ์ผงพุทธคุณ
รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้บูชาพระกริ่งและพระพุทธนวราชบพิตร พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๖๐ พรรษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเททองพระประธานด้วยพระองค์เอง ในวันพุธที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทางวัดจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนและพสกนิกรได้บูชาเป็นมหามงคล ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ ณ พระอุโบสถ วัดตรีทศเทพ โทร. ๐-๒๒๘๑-๓๐๐๓