บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: room | เผยแพร่เมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๖๐
เจ้าของ–ออกแบบ: อาจารย์อ๊อด – วัชระ ประยูรคำ
เรื่อง: Ektida N. | ภาพ: จิระศักดิ์, ดำรง, นันทิยา | สไตล์: ประไพวดี
บ้านสะท้อนศิลป์ – TIMELESS MASTERPIECE
บ้านสะท้อนศิลป์ ไม่บ่อยนักที่เราจะได้รับโอกาสในการเข้าไปทำความรู้จักกับบ้านของศิลปินใหญ่ ซึ่งได้ถ่ายทอดตัวตนลงไปในทุกรายละเอียดของบ้านอย่างถึงแก่น ความพิเศษของบ้านหลังนี้ จึงไม่ได้มีแค่จิตวิญญาณแห่งศิลปะที่อบอวลอยู่ในทุกอณูเท่านั้น แต่ตัวบ้านยังมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของการอยู่อาศัยได้อย่างน่าทึ่ง

วันนี้ อาจารย์อ๊อด – วัชระ ประยูรคำ ประติมากรชื่อดัง เจ้าของผลงานประติมากรรมรูปเหมือนอันทรงคุณค่า ให้เกียรติพาเราเข้าไปเยี่ยมชมบ้านกึ่งสตูดิโอศิลปะของเขา ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของอาจารย์เองทั้งหมด จากจุดเริ่มต้น อาจารย์อ๊อดต้องการสร้างบ้านสามชั้นสำหรับครอบครัว และงานศิลปะอันเป็นที่รัก ดังนั้นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้คือ การออกแบบสเปซเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์งานประติมากรรม พื้นที่สำหรับสอนนักศึกษาศิลปะ แกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลป์ หรือพื้นที่พักอาศัยส่วนตัว โดยแทบทุกมุมภายในบ้านล้วนรายล้อมไปด้วยภาพวาดศิลปะและงานประติมากรรมมากมาย จนไม่มีความจำเป็นต้องมีของตกแต่งอื่นใดอีก


เมื่อเข้ามาถึงประตูทางเข้าหลัก เราได้พบกับสตูดิโอขนาดใหญ่ที่มีฝ้าเพดานสูงกว่า ๖ เมตร ใช้เป็นพื้นที่เก็บสะสม และจัดแสดงงานประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ มีประตูเหล็กม้วนขนาดใหญ่สามบานเว้นระยะตามช่วงเสา ให้สามารถเคลื่อนย้ายงานศิลปะเข้า – ออกภายในสตูดิโอได้อย่างสะดวก

ถัดจากสตูดิโอเข้าไปเป็นห้องสำหรับแสดงผลงานศิลปะ บริเวณบันไดมีการเล่นระดับเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษานั่งฟังการสอนไปพร้อมๆ กับซึมซับความลึกซึ้งของงานประติมากรรมชั้นครูที่ตั้งอยู่รอบๆ ส่วนห้องทำงานส่วนตัวของอาจารย์ได้รับการกั้นสัดส่วนให้อยู่ถัดเข้าไปด้านในของบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า อาจารย์ตั้งใจออกแบบให้พื้นที่ทำงานอยู่บนชั้นหนึ่งเพียงชั้นเดียว โดยออกแบบขนาดและเรียงลำดับการเข้าถึงพื้นที่ตามขนาดของงานศิลปะและความเป็นส่วนตัว ส่วนชั้นสองจัดเป็นพื้นที่พักผ่อน ประกอบด้วยห้องครัวขนาดเล็กและแกลเลอรี่ส่วนตัว
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการออกแบบบ้านที่มีผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของอาจารย์อ๊อดโดยตรงคือ แสงธรรมชาติ อาจารย์ออกแบบให้ทุกห้องมีแสงธรรมชาติเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สตูดิโอที่ใช้ปั้นงานประติมากรรม ส่วนเรื่องวัสดุที่ใช้ภายในบ้านนั้น อาจารย์เลือกใช้ปูนเปลือยขัดมันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย




นอกเหนือจากงานประติมากรรมต่างๆ “บ้านหลังนี้” ก็นับเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่อาจารย์อ๊อดปั้นขึ้นมาเองกับมือ โดยใส่ทั้งความรู้สึกและประโยชน์ใช้สอยไว้อย่างครบถ้วน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประติมากร ผู้มีกลิ่นของดินปั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างมีความสุขที่สุด
หกปีก่อน room เคยไปเยี่ยมเยือนบ้านของอาจารย์อ๊อดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ ทันทีที่ก้าวเข้ามายังแกลเลอรี่ที่รายล้อมด้วยพระบรมรูปปั้นในหลวง รัชกาลที่ ๙ บรรยากาศแห่งความรำลึกอาลัยก็กระทบหัวใจเราทันที
หากจะพูดถึงพระบรมรูปปั้นของพระองค์ท่านที่งดงามจนเลื่องลือแล้ว ล้วนได้รับการรังสรรค์ขึ้นจากปลายนิ้วของอาจารย์อ๊อดทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าจะบอกว่า อาจารย์คือเจ้าของผลงานคอลเล็คชั่นพระบรมรูปปั้นที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็คงไม่ผิดไปนัก
“ผมเป็นคนที่ต้อง ‘รู้สึก’ ก่อนถึงจะลงมือปั้น คือก่อนจะปั้นพระบรมรูปปั้นของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผมต้องค้นคว้าทุกพระราชอิริยาบถของพระองค์อย่างละเอียด ตั้งแต่พระพักตร์ที่งดงามสมบูรณ์ ไปจนถึงการศึกษาพระราชกรณียกิจ ผมไม่คิดว่าพระองค์ท่านจะทรงงานอะไรได้มากมายถึงเพียงนี้ ทุกโครงการในพระราชดำริไม่ได้เกิดจากการใช้เงินเป็นหลัก แต่เกิดจากแรงศรัทธาของทุกคน โดยมีพระองค์เป็นศูนย์กลาง ต่อให้ผมทำงานเท่าไรก็คงไม่ได้สักครึ่งของพระองค์ท่าน”
“ผมจะจับเอาเหตุการณ์สำคัญๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ เช่น ตอนที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือแม้กระทั่งตอนทรงพระผนวช ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากฉลองพระองค์ที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด”
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้อาจารย์อ๊อดซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนของพระองค์คือ ช่วงที่เขามีโอกาสได้เข้าไปทำงานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถึงแม้จะไม่ได้เห็นพระองค์ทรงงานโดยตรง แต่ก็มักได้ยินเรื่องราวที่พระองค์ทรงงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อคนไทยอยู่เสมอ ทำให้เกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้ง จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำมาสร้างงานประติมากรรมรูปพระองค์ท่านจนถึงปัจจุบัน
“ผมเรียนรู้ถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ ผมรู้สึกว่าพระองค์เป็นเหมือนดวงตะวันที่สว่างสดใส สำหรับคนไทยทุกคน ผมจึงอยากถ่ายทอดให้คนที่เห็นงานผมรู้สึกเช่นนั้น ให้ระลึกถึงความดีงามของพระองค์ท่านตลอดไป”
อาจารย์วัชระ ประยูรคำ
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างผลงานไว้มากมายโดยเฉพาะงานด้านประติมากรรมรูปเหมือน มีผลงานสร้างชื่อ อาทิ ทิฐิกาย ๒๕๕๗, ประดุจฟ้าโน้มลงสู่ดิน ซึ่งผลงานส่วนใหญ่มักได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
ข่าวดี สำหรับใครที่ชื่นชอบผลงานของอาจารย์อ๊อด ปีหน้า “นิลเพชรแลนด์อาร์ต” อาณาจักรขนาด ๔๕ ไร่ แถวบางเลน จังหวัดนครปฐม ใกล้สร้างเสร็จ พร้อมเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้แล้ว โดยมีทั้งห้องสมุด โรงปั้น และแกลเลอรี่สำหรับศิลปินหมุนเวียนมาจัดแสดงผลงานให้ชมกัน
=========
เจ้าของ–ออกแบบ: อาจารย์อ๊อด – วัชระ ประยูรคำ
เรื่อง: Ektida N. | ภาพ: จิระศักดิ์, ดำรง, นันทิยา | สไตล์: ประไพวดี