บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ | เผยแพร่เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
ไว้บูชาไม่ได้มีไว้ขาย เปิดบ้านหนุ่มสะสมทุกอย่างของ ร. ๙ มหาศาล ใช้สอนลูก
“ผมซื้อมาเก็บไว้เพื่อเทิดทูน เก็บไว้บูชา ไม่ได้เก็บไว้ในเชิงธุรกิจ ไม่ได้หวังนำมาซื้อขาย ถ้ามีมากก็แบ่งไป อย่างวันครู ผมก็ให้ลูกไปแจกคุณครู แจกเพื่อนๆ วันสำคัญก็นำไปแจกคนแถวบ้าน เพื่อคิดว่าเป็นการมอบของมงคล”
หนุ่มที่สะสมเหรียญกษาปณ์เป็นแสนเหรียญ ธนบัตร ปฏิทิน หนัง เพลง ซีดีหนัง เพลง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และอื่นๆ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ อีกมหาศาล บอกผมแบบนั้น
เอ็กซ์คลูซีฟไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้รู้เรื่องราวดีๆ ของ ‘สมบูรณ์ มะกรูดอินทร์’ หนุ่มไทยที่เก็บสะสม ไม่เพียงเหรียญกษาปณ์เป็นแสนเหรียญ สะสมตั้งแต่ ป.๕ ยังมีธนบัตร ปฏิทิน หนัง เพลง ซีดีหนัง เพลง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ภาพวาด และแนวอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นของที่เขาย้ำว่า เก็บไว้บูชา เก็บไว้เพื่อสอนลูก สอนคนรุ่นต่อไป ว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของคนไทยทั้งประเทศ
บ้านสูตร ๓๐-๓๐-๓๐ และ ๑๐
รถเราจอดที่บ้านหลังหนึ่งที่รังสิต บ้านเขาดูเป็นทาวน์เฮาส์ธรรมดา ด้านหน้าบ้านติดพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ หนุ่มที่แต่งตัวง่ายๆ คุมโทนสีดำ เดินออกมาหลังเสียงรถดับเครื่อง
สมบูรณ์ เป็นหนุ่มไทยที่เกิดที่วัดไผ่ตัน เขตพญาไท จุดเด่นเขานอกจากหน้าตาใจดี ยิ้มโอภาปราศรัยแล้ว เหรียญในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขนาดใหญ่คล้องอยู่กับสร้อยคอ ใครเห็นก็ต้องถาม เดินนำเข้าไปในบ้าน ภายในก็ไม่แตกต่างจากบ้านคน
“ผมบูชาพระองค์แบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่ใช่พระไม่บูชานะ บูชา แต่เราเลือกเอาสิ่งที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวการใช้ชีวิตนำขึ้นคอ” เขาเล่าเสียงสั่นทุกครั้งที่พูดถึงความในใจบุคคลที่เป็นหลักยึดของจิตใจ
ชั้น ๒ น่าสนใจ เพราะแทบทุกส่วนประดาไปด้วยสิ่งที่เขาใช้หัวใจเก็บ บางอย่างง่ายๆ เช่น ปฏิทิน ภาพ แสตมป์ หนังสือ แผ่นซีดี ฯลฯ เก็บเพราะเทิดทูน ไม่ได้เก็บไว้เพื่ออวดใคร
‘อย่างหนังสือบ้านของพ่อ’ เขาหยิบมากางมันออก กลายเป็นป๊อปอัพ
“ผมใช้หนังสือของพ่อหลวงสอนลูก สูตรการใช้ชีวิตที่พระองค์เคยตรัสสอนคือ ๓๐-๓๐-๓๐ และ ๑๐ แต่เราไม่มีที่นา เราอยู่ทาวน์เฮาส์ บางคนบอกต้องสูตรนี้ใช้กับการบริหารที่นา ซึ่งผมอยู่ทาวน์เฮาส์ก็เอาแนวคิดนี้มาประยุกต์แบ่งได้เหมือนกัน คือในชีวิตผมตั้งแต่เด็กๆ เมื่อได้เงินมาสมมติ ๑๐๐ สิ่งแรกที่ผมทำคือแบ่งไว้ตามสูตรของพระองค์ คือ ๓๐% ค่าใช้จ่าย ๓๐% ครัวเรือน ๓๐% ค่ารักษาพยาบาล และ อีก ๑๐% เก็บออม”
เคล็ดลับนี้ เขาย้ำว่า ก้อน ๓๐% ที่ว่าด้วยค่ารักษาพยาบาล ก็ไม่ได้ใช้ทุกเดือนดังนั้นก็สามารถเอามาแบ่งเก็บ นำมาดูแลคนภายในบ้าน เช่น พาไปเที่ยวหรือทำอื่นๆ ได้อีกด้วย แต่เก็บแน่ๆ คือ ๑๐% มีทุกเดือน
ภาพพ่อ ภาพทำงานหนักเพื่อคนอื่น ภาพแห่งความทรงจำ
สมบูรณ์ เล่าว่าชอบดูข่าวพระราชกรณียกิจ ชอบอ่าน ชอบดูเรื่องราวของพระองค์ท่าน ตั้งแต่จำความได้ สงสัยว่าทำไมท่านถึงทรงงานหนักแบบนี้ ทรงงานหนักเพื่อคนอื่น หลังจากนั้นก็ศึกษาด้วยตัวเอง จากการอ่าน การติดตามเรื่องราวพระราชประวัติเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
“ผมจำได้ว่าภาพแรกที่เห็นพระองค์คือ ครั้งพระองค์เสด็จฯ วัดไผ่ตัน ตอนผมเรียนหนังสือ เด็กมาก ท่านเสด็จพระราชดำเนินผ่านแล้วก็ทรงโบกพระหัตถ์ให้ หลังจากนั้นเห็นใกล้มากๆ (เสียงสั่น) อีกครั้ง ๑๗ ปีให้หลัง ซึ่งพบกันใกล้มากที่สุด พ.ศ. ๒๕๓๕ ผมข้ามถนนไม่รู้ว่าขบวนเสด็จพระองค์มา ทหารแถวนั้นบอกให้นั่งลง แล้วก็เป่าแตร พระองค์ก็ทรงขับรถผ่านแล้วก็โบกพระหัตถ์ให้ ภาพนั้นยังติดตาจนถึงวันนี้ จากครั้งนั้น พระองค์เสด็จไปที่ไหนผมก็จะเดินทางไปรอรับเสด็จพระองค์เสมอๆ ไม่ว่าจะไปวันที่ ๕ ธ.ค. วันครบรอบวันสำคัญที่พระองค์จะเสด็จ และวันอื่นๆ อีกมากมาย”
“สิ่งที่ผมทำได้ เวลาเจอพระองค์ หรือเรื่องพระองค์ก็คือ กล่าวคำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ แล้วก็น้ำตาไหลเสมอๆ” เขาย้ำคำเสียงเครือ
ครั้งที่ประทับใจที่สุดของสมบูรณ์ก็คือ ‘วันพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“งานจัดขึ้นวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ผมไปก่อนวันงาน ๑ วัน ครั้งนี้พาลูกพาภรรยาและญาติๆ ไปร่วมงานด้วย วันนั้นคนมหาศาล มารอตั้งแต่ก่อนงานจะเริ่ม ผมโชคที่ได้ที่ใกล้ๆ รอแบบนั้นด้วยใจจดจ่อมาก บรรยากาศงดงามมาก จนกระทั่งวันงาน ผู้คนที่เดินทางมาสวมเสื้อเหลืองสีประจำพระองค์ กลายเป็นทะเลเสื้อสีเหลืองสุดหูสุดตา รอจนกระทั่งพระองค์เสด็จออกมากับพระบรมวงศานุวงศ์ น้ำตาแห่งความปีติหลั่งออกมามากมายแทบทุกคน เสียงกึกก้องไปถึงชั้นฟ้าว่า “ทรงพระเจริญ” ก็ดังออกมาพร้อมกัน ผมจดจำภาพนั้นได้ติดตา มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ทุกภาพ ที่ผม ลูก ภรรยา คนที่มาร่วมงาน คนที่ชมอยู่ทางบ้าน ได้จดจำไปชั่วนิรันดร์ และก็จดจำทุกๆ อย่าง ทุกเรื่องราว วันที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต (๑๓ ต.ค.) ได้แบบไม่เคยลืม”
ของสะสม ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อธุรกิจ
กล่าวสำหรับของสะสม สมบูรณ์ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นชิปปิ้งหนุ่ม เล่าว่า สะสมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ จำไม่ได้ว่าชิ้นไหน แต่ส่วนใหญ่เก็บอะไรก็ได้ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ มีเรื่องราวของในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดยเฉพาะเหรียญกษาปณ์ ที่มีเป็นแสนเหรียญ ธนบัตรมากมายมหาศาล (เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเยอะจนต้องเช่าเซฟธนาคารฝากไว้) ปฏิทิน หนัง เพลง ซีดีหนัง เพลง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และอื่นๆ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ อีกมหาศาล
“อย่างเหรียญกษาปณ์ เวลาเราซื้อผมจะซื้อ ๒ เหรียญ หน้า-หลัง ซื้อเอาไว้ ๒ ชุด เสมอๆ ซื้อแบบไม่ได้เดือดร้อน ไปต่อแถวซื้อเวลาเขาเปิดให้จอง อย่างเหรียญกษาปณ์ ๓๖ รอบ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เหรียญสมเด็จย่า เหรียญกษาปณ์ของธนาคารออมสิน ด้านหลังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๙ กับรัชกาลที่ ๖ คู่กัน ข้างหลังเป็นออมสิน, เหรียญกษาปณ์วันกล้วยไม้โลก, เหรียญกษาปณ์วันตำรวจไทย เหรียญกษาปณ์วันต้นไม้โลก ปัจจุบันหายากมาก เพราะว่าผลิตมาน้อย, เหรียญกษาปณ์วันลูกเสือโลก, เหรียญกษาปณ์วันครูไทย ซึ่งทุกวันครูและวันสำคัญผมจะให้ลูกไปเป็นของขวัญให้ด้วย อย่างวันปีใหม่ผมก็ยืนแจกให้”
เขาบอกว่า เหรียญกษาปณ์แบ่งเป็น ๓ ชนิด ๑.เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ๒.เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และ ๓.เหรียญที่ระลึก ซึ่งประเภทนี้จะไม่มีราคาหน้าเหรียญ ซึ่งเหรียญกษปาณ์ผมมีแทบทุกเหรียญ โดยเฉพาะหมวดที่ ๓ หรือ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก มีทั้งหมดเป็นหลายแสนเหรียญ
“มีมากก็แบ่งปันครับ ทุกวันสำคัญผมจะให้ลูก หรือไปมอบเหรียญ แสตมป์ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง (เขาชอบสะสมแสตมป์จนเอาไปตั้งชื่อลูก) ให้สิ่งมงคลเหล่านี้ดี ดีกว่าให้อย่างอื่นแล้วเขาก็ทิ้ง หรืออย่างธนบัตรผมก็เริ่มสะสมมานานมาก มีตั้งแต่แบงก์ ๑ บาท ของรัฐบาลสยาม, แบงก์ ๑ บาท ของรัชกาลที่ ๗, แบงก์ ๑ บาท รัชกาลที่ ๘, แบงก์ ๑ บาทรัชกาลที่ ๙, แบงก์ ๕ บาท รัชกาลที่ ๙ อื่นๆ อีกมากมาย ยุคผมทันใช้แบงก์ ๕ บาท”
เขาย้ำว่าที่นำมาให้ดูเป็นเพียงส่วนหนึ่ง สัก ๒๐% อีก ๘๐% อยู่ในตู้เซฟ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตร เหรียญกษาปณ์ แสตมป์ หนังสือ รูปภาพ แผ่นซีดี เทป หนัง ภาพยนตร์ของในหลวง หรือที่ได้แรงบันดาลใจจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ เปิดให้ลูกดู หนังสือพิมพ์ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ สมเด็จย่าตอนสวรรคต และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ มากมายมหาศาล โชคร้ายที่โดนน้ำท่วมไปเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๔ พัดเอาสิ่งที่บันทึกความทรงจำไปมากมาย
“หนังสือพิมพ์ผมเก็บเฉพาะช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มหาศาล เก็บจนแฟนว่าบ้า (หัวเราะ) แต่เขาเข้าใจว่าเราเอามาสอนลูกต่อได้ ผมอยากให้ลูกเรียนด้านประวัติศาสตร์ ก็เริ่มใช้การ์ตูนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหาชนกสอน และก็อยากให้สิ่งเหล่านี้ตกทอดเป็นมรดกให้ลูกสอนหลานส่งต่อกันต่อไป”
ถามว่ามูลค่าเสียเงินไปทั้งหมดเท่าไร เขาบอกว่า ประเมินค่าไม่ได้ บางทีเราก็แลกมา เก็บตั้งแต่อายุ ป.๕ เก็บมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน
“วันที่ในหลวงสวรรคตผม …” เขาเว้นจังหวะเล่า เหมือนอะไรไปจุกที่คอ ในดวงตามีน้ำไหลออกมา “ผมอยู่ศิริราช ได้ข่าวก็ไปเลย ลูกเรียนอยู่วันนั้น ก็นั่งสวดมนต์เหมือนทุกคน สวดด้วยความหวังอยากให้พระองค์หาย อยู่นั่นแทบตลอด แวะมารับลูกบ้าง (ลูกเรียนหอวัง) วันที่ ๑๒ ต.ค. ไปลงนามถวายพระพรแล้วก็ขอพรกับที่พระแก้วมรกต ข้ามฝั่งไปสวดมนต์ต่อ ช่วงเวลานั้นเราไม่เชื่อข่าวลือ ไม่เสพสื่อเลย กระทั่งมีประกาศของสำนักพระราชวัง (น้ำตาไหล) ตอนนั้นร้องไห้ ทั้งพยาบาล หมอ คนไข้ ทุกๆ คนร้องไห้เสียงระงม หลักชัยของชีวิตเราไม่อยู่แล้ว เชื่อไหม ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมไม่ค่อยได้ดูข่าว เพราะเชื่อว่าพระองค์ยังอยู่กับเราตลอดไป”
ไปถวายความเคารพพระบรมศพมาหรือยัง? เขาบอกว่า ไปมาแล้วหลายครั้ง ไปเอง พาลูกและภรรยาไปด้วย พร้อมกับเอาเหรียญกษาปณ์ไปแจก
“จริงๆ เราอยากจะบอกว่า แม้ว่าจะเก็บสะสมของพระองค์ท่านไว้มากมายแค่ไหน แล้ววันนี้มูลค่ามันแค่ไหน เราไม่อยากพูดในแนวมูลค่า เพราะสิ่งที่เรามีเพราะว่าเทิดทูนในความดีของพระองค์ ก็นำสิ่งต่างๆ มาใช้กับตัวเอง และปลูกฝังให้กับลูกตั้งแต่ ๒ ขวบ เอาทุกอย่างมาสอนลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ความอุตสาหะ ความเสียสละ ความประหยัดมัธยัสถ์ และที่สำคัญ ‘ต้องไม่ทำตัวเป็นภาระกับสังคม ช่วยเหลือสังคม’ ดูแลตัวเองให้เราอยู่ได้แค่ตรงไหน ช่วยได้ตรงไหนได้ ให้มีน้ำใจ ดูแลรอบข้างยังไง และใช้เงินอย่างมีแบบแผน”
สุดท้าย สมบูรณ์ย้ำน้ำตานองหน้าว่า คำว่า “พอเพียง” ไม่ได้หมายถึง “ยากจน” ไม่ได้หมายความว่า “ต้องอดอยาก” เราอยากกินอะไรก็ได้กิน อยากเที่ยวไหนก็ได้ไป แต่ไม่ยืมเงินใคร ไม่กู้หนี้ยืมสิน ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ยึดหลักพอเพียงแบบพระองค์ท่านจนวาระสุดท้าย