บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: มติชนออนไลน์ | เผยแพร่เมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
๓๕ ปี นักสะสมธนบัตร ‘บุญชัย เบญจรงคกุล’ ทุกใบมีประวัติศาสตร์
“ย้อนกลับไปเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปตลาดแถววัดมหาธาตุฯ เจอธนบัตร ๒๐ บาท มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๗ และ ๘ ก็อดนึกถึงอดีตไม่ได้ว่ายุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน นับแต่นั้นจึงรู้สึกว่าแบงก์แต่ละใบมีคุณค่าและเรื่องราว ก็ได้เก็บสะสมเรื่อยมา”
เริ่มจากการสะสมธนบัตรใบแรกของ “บุญชัย เบญจรงคกุล” ณ ตอนนั้น เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้บุญชัยเก็บสะสมธนบัตรแบบต่างๆ ของไทย ตั้งแต่เคยมีใช้มา ซึ่งหากนับเฉพาะแค่ธนบัตรที่เริ่มใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแล้วนั้น บุญชัยมีสะสมครบทั้ง ๘ รุ่น ครบทุกลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนอยากถ่ายทอดความรู้ที่เก็บสะสมไว้ให้กับนักสะสมรุ่นหลัง ในหนังสือ “ธนบัตร ร.๙ – ๗๐ ปี ใต้ร่มพระบารมี”
และเมื่อคิดจริงจังกับการเก็บสะสมธนบัตรแล้วก็ต้องหาข้อมูลไม่น้อย
บุญชัยเผยว่า ตอนที่เก็บสะสมช่วงแรก เสาร์-อาทิตย์ ต้องไปสนามหลวง ไปดูว่าวันนี้มีใครเอาอะไรมาอวด พวกรุ่นใหญ่เขาก็จะโชว์ เราก็ได้แต่รอว่าใครจะเอาอะไรมาขาย บางทีซื้อมาหลักหมื่น ขายออกไปหลักแสน ต่อหน้าต่อตาของเราเลยก็มี เราก็ต้องไปหาข้อมูล ถามเขาว่าฉบับไหนเป็นอย่างไร ไปหาหนังสือของฝรั่งมาอ่าน แม้ว่าจะไม่ครบทุกฉบับ เพราะไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนปลอม เพราะนักสะสมก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ อย่างเช่น แบงก์รุ่นที่มีลายเซ็นของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีต รมว.คลัง ซึ่งสงสัยกันอยู่ว่าท่านเซ็นชนิดไหนบ้าง ปรากฏว่าเซ็นแค่ชนิด ๕๐ บาท และ ๑๐๐ บาท เพราะอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น
“ลายเซ็นที่มีน้อยๆ รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งไม่นาน ยิ่งเป็นที่ต้องการของนักสะสมมาก”
“ผมเริ่มเก็บมา ๓๕ ปี จึงต้องตามเก็บอีก ๓๕ ปี ในรัชสมัยของในหลวง ร.๙ บางรุ่นก็ตามหายาก และมีมูลค่าสูง ใบที่หายากก็อย่างเช่น ธนบัตรรุ่นแรกของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ชนิด ๒๐ บาท เลขแดง มีลายเซ็น จอมพล ป.พิบูลสงคราม รมว.คลัง และ เดช สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าการ ธปท. ในสมัยนั้นเรียกว่ารุ่น ป.เดชแดง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมูลล่าสุดที่ 250,000 บาท เป็นใบที่มีค่ามากที่สุดในรัชสมัย อีกใบหนึ่งก็อย่างเช่น แบบ ๑๒ หมวดนำเลขคู่ ที่มีลายเซ็น นายสมหมาย ฮุนตระกูล นายนุกูล ประจวบเหมาะ เรียกว่า นุกูลเล็ก จากใบละ ๑๐๐ บาท ทุกวันนี้มีราคาใบละหมื่นสองหมื่นบาทแล้ว
“เวลาที่ผมเก็บ ก็จะแลกธนบัตรทีละพันใบเก็บไว้ เราอาจจะเก็บไม่กี่ใบ ที่เหลือมีคนมาขอแบ่งแลกไปก็มี ความน่าสนใจในการสะสมอยู่ตรงนี้ ที่ไม่ได้มีแค่ชิ้นเดียวเหมือนงานศิลปะอื่นๆ ธนบัตรทุกใบมีค่าในตัวเอง และเพิ่มขึ้น ๕๐% ทุกใบ บางใบ ๓๐๐% เรียกได้ว่าดีกว่าฝากเงินกินดอกเบี้ยธนาคาร และก็เน้นเก็บให้ครบ ไม่ได้ดูเลขสวยเหมือนคนอื่น เก็บแค่เลขวันเกิดตัวเอง บางใบที่ตามหายากๆ ก็ต้องไปประมูล อย่างครั้งหนึ่งไปประมูลที่สิงคโปร์ พอราคาสูงขึ้นๆ ก็ไม่กล้ายก จนคนที่ชนะนำมาประมูลที่ไทย จาก ๕๐,๐๐๐ เหรียญ ผมต้องจ่ายเป็นล้านบาท” บุญชัยเผย
ซึ่งจะขายให้ได้ราคา ก็ต้องเก็บรักษาให้ดี เจ้าสัวบุญชัยเล่าว่า ในอดีตเมื่อเห็นแบงก์เป็นรอย ก็เอายางลบมาลบ เอาน้ำยามาลบน้ำหมึก หรือเห็นแบงก์ยับก็นำไปแช่น้ำ แล้วมาเป่าสอดในหนังสือให้แบงก์เรียบ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นวิธีที่ผิด และทำให้เสียราคาไปถึง ๘๐% ไม่ว่าจะได้มาอย่างไร ควรเก็บรักษาในสภาพนั้นมากกว่า
แต่แม้จะต้องตามหายากแค่ไหนกว่าจะครบ แต่ทั้งหมดคือความสุข เพราะเสน่ห์ของธนบัตรไม่เหมือนสิ่งอื่น
“ในธนบัตรแต่ละใบล้วนมีเรื่องราวของตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าในรัชสมัยของในหลวง ร.๙ การเงินของเรามีเสถียรภาพมาก ไม่เหมือนช่วงก่อนหน้านั้น ที่ต้องจ้างเขาพิมพ์ มีใช้บ้างไม่มีบ้าง เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ดี”
“นอกจากนี้ บนธนบัตรแต่ละใบยังมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง ร.๙ ขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งบางครั้งที่เราเหนื่อย เราก็ได้คิดว่าพระองค์ทรงเหนื่อยกว่าเรา นั่นทำให้เรามีแรงสู้ต่อไป และเป็นแรงบันดาลใจที่อยากทำอะไรเพื่อคนอื่น ทุนใหญ่ช่วยทุนเล็ก เพื่อให้สังคมเราก้าวหน้าไปได้”
“ด้วยเรื่องราวทั้งหมดนี้ ผมจึงอยากนำความรู้ที่เก็บสะสมทั้งหมด มาให้กับนักสะสมรุ่นใหม่ต่อไป” บุญชัยทิ้งท้าย
