บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: The Cloud | เผยแพร่เมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐
เรื่อง: ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ: ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข
ชมความงามพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๙ และเรื่องเบื้องหลังจากนักสะสมของเก่าแห่ง ‘หุบเขาคนโฉด’ เชียงใหม่
เมื่อครั้งแวะไปทำคอลัมน์ Have a Nice Stay ที่ ‘หุบเขาคนโฉด’ ที่พักและร้านอาหารลึกลับกลางหุบเขาของเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าของคือ กุ่ย-วรธ เจริญค้าวัฒนา และ ยศ-ธนยศ คชคง นักสะสมและพ่อค้าของแอนทีกชิ้นงาม ฉันสะดุดตากับพระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในห้องนอนของกุ่ย
นอกจากความงดงาม พระบรมฉายาลักษณ์นั้นยังแปลกตาไม่เคยเห็นที่ไหน
เมื่อกลับมากรุงเทพฯ จึงได้รู้ว่านอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่เห็น นักสะสมทั้งคู่ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์งดงามเก็บไว้อีกหลายภาพ ในวาระครบรอบการสวรรคต ๑ ปี ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ฉันจึงกลับไปที่นั่นอีกครั้ง เพื่อพูดคุยและขอชมพระบรมฉายาลักษณ์หายากที่น่าประทับใจ
กุ่ยบรรจงหยิบพระบรมฉายาลักษณ์หลายภาพออกมาวาง เช็ดฝุ่นที่จับอยู่บนกรอบกระจก ขณะที่ยศเอ่ยเล่าถึงเหตุผลการเก็บ ‘ภาพถ่ายของพ่อ’ ให้เราฟัง
“สมัยเรียนประถม เหนือกระดานดำมีภาพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เวลาเรามองขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ก็จะมีแรงบันดาลใจตลอด แต่เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีทางได้ไปสัมผัสท่านใกล้ๆ การเก็บพระบรมฉายาลักษณ์จึงเป็นวิธีที่พระองค์ท่านได้อยู่ใกล้ตัวเรา”
ทั้งคู่สะสมพระบรมฉายาลักษณ์มานานตั้งแต่คนยังไม่นิยมสะสมกัน และไม่ใช่แค่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่ยังมีสิ่งของเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ อีกหลากหลายประเภท ตั้งแต่พระบรมสาทิสลักษณ์ เหรียญกษาปณ์ จนถึงพระบรมรูป จนเมื่อราว ๑๒ ปีก่อน ตอนเริ่มทำธุรกิจขายของเก่า ได้มีคนติดต่อมานำเสนอพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตลอดทั้งปี ทั้งคู่ซื้อเก็บเท่าที่กำลังทรัพย์จะมี จนกลายเป็นการสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ชุดใหญ่
ปกติแล้ว พระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้เป็นของที่คนมักเก็บเอาไว้เอง ไม่ค่อยนำออกขาย การได้พระบรมฉายาลักษณ์ชุดนี้มาจึงเป็นเรื่องพิเศษ แม้พระบรมฉายาลักษณ์หลายภาพอาจยากที่จะระบุความเป็นมา เพราะมาจากพ่อค้าคนกลาง แต่เรื่องราวภายในก็มีความสำคัญ ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไป และหลายภาพก็สวยแปลกตา เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำบางภาพที่ลงสีจนสดสวย
พระบรมฉายาลักษณ์ทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ในบ้านของทั้งคู่ หลายภาพถูกนำขึ้นประดับผนังด้านหนึ่งในห้องนอนของกุ่ย รวมกับผลงานแบบอื่นๆ จนกลายเป็นผนังเล่าเรื่องในหลวงรัชกาลที่ ๙
และแม้สวมหมวกพ่อค้าและนักสะสมของเก่า ซึ่งอาจนำบางชิ้นออกขายเมื่อถึงเวลาเหมาะ แต่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๙ กุ่ยและยศยืนยันว่าเป็นการเก็บรักษาด้วยความเคารพรักอย่างแท้จริง
“เราไม่ได้สะสมเพื่อขาย แต่สะสมเพื่อเคารพ ให้พระบรมฉายาลักษณ์ของท่านอยู่เป็นมิ่งขวัญของเรา ทุกวันนี้ก่อนออกจากห้อง เราจะก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๙ เป็นกิจวัตรที่เราทำมาตั้งแต่พระองค์ท่านยังไม่สวรรคต ซึ่งทำให้เรามีความหวัง มีกำลังใจ” ยศกล่าว
๕ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ประทับใจที่สุด
๑. พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห้อยมาลัยสาย
“นี่น่าจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ร้านถ่ายรูปในเชียงใหม่ถ่ายและอัดเก็บเอาไว้เอง น่าจะเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสเชียงใหม่ เราชอบ เพราะทั้งมาลัยสายและฉลองพระองค์แขนกระบอกของสมเด็จพระนางเจ้าฯ มีความเป็นเชียงใหม่ และทั้งสองพระองค์ทรงผินพระพักตร์ได้จังหวะพอดี ดูงดงาม และดูผ่อนคลาย แม้อยู่ในงานพิธีการ”
๒. พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระสันตะปาปา
“นี่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ช่วงที่ท่านเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๘ ที่จริงเราชอบพระบรมฉายาลักษณ์ในชุดนี้หมดเลย แต่ถ้าให้เลือก เราขอเลือกภาพนี้ เพราะเป็นรูปที่พิเศษสำหรับเรา เนื่องจากพระสันตะปาปาเป็นผู้นำทางศาสนาคนสำคัญ”
๓. พระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำขนาดเล็ก
“พระบรมฉายาลักษณ์ภาพนี้ได้มาจาก พี่เอี๋ยว-ภูวนาถ ชุ่มศรีขรินทร์ เจ้าของร้านดอกไม้และร้านกาแฟ Napasorn ซึ่งพี่เขาได้มาจากร้านขายของเก่าอีกที เราชอบ ใส่กรอบไว้เลย เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงหันพระพักตร์ด้านข้าง มีในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นแบ็กกราวด์ แต่ชัด”
๔. พระบรมฉายาลักษณ์เทคนิคภาพพิมพ์
“พระพักตร์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แบบในพระบรมฉายาลักษณ์นี้ เป็นพระพักตร์ที่เราคุ้นเคย เห็นมานาน เพราะเป็นพระพักตร์แบบที่ติดอยู่บนธนบัตร และสิ่งที่เราประทับใจคือ พระบรมฉายาลักษณ์นี้มีการใช้เทคนิคภาพพิมพ์ ซึ่งสมัยก่อนการทำภาพถ่ายเป็นภาพพิมพ์ลงหินค่อนข้างหายากและพิเศษ”
๕. พระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำระบายสี
“เราชอบพระบรมฉายาลักษณ์ภาพนี้ เพราะมันเป็นภาพถ่ายจริงที่นำมาระบายสี เวลานำมาแขวน เรารู้สึกว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีความป๊อปและร่วมสมัย ดูแล้วทำให้เราไม่เศร้าหมองจนเกินไปกับการสวรรคตของพระองค์ท่าน”