บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: PRAEW.COM | เผยแพร่เมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ผู้เขียน: SRIPLOI
เป็นที่ทราบกันดีว่าพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นสูงส่งเพียงใด ทุกบทเพลงพระราชนิพนธ์ยังคงติดตราตรึงใจของประชาชนชาวไทยมิลืมเลือน รวมถึง “รศ. ดร.ภาธร ศรีกรานนท์” หนึ่งในสมาชิกวง “อ.ส.วันศุกร์” ซึ่งเคยมีโอกาสได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดอยู่หลายครั้ง จนเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ รศ. ดร.ภาธร จึงได้นำเรื่องราวที่เป็นความทรงจำทั้งหมดมาร่วมถ่ายทอดให้ประชาชนได้ทราบ พร้อมกับนำเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ตนและ “อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ผู้เป็นพ่อ รวมถึงเครื่องดนตรีส่วนพระองค์บางชิ้นที่มีผู้ทำถวาย นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ เครื่องดนตรีส่วนพระองค์ที่นำมาจัดแสดงเหล่านี้อยู่ในนิทรรศการที่ชื่อว่า “คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์” โดยเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ทั้งหมด มีประวัติที่น่าสนใจอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ ที่ทรงเห็นความสำคัญในด้านดนตรี ที่นอกจากจะทำให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญทุกครั้งที่พอมีเวลาว่างหลังจากปฏิบัติพระราชกรณียกิจแล้ว ดนตรียังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยพัฒนาคนและสร้างความสามัคคีให้คนในชาติอีกด้วย
King Alto Saxophone
เป็นแซ็กโซโฟนที่ผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แซ็กโซโฟนเครื่องนี้มีความผูกพันกับครอบครัว อ.แมนรัตน์ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้ อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพื่อถวายการสอนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อครั้งพระองค์ท่านยังทรงเป็นนักเรียนในโรงเรียนจิตรลดา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากที่ อ.แมนรัตน์ ไม่ได้เล่นแล้ว ก็เก็บเครื่องนี้ไว้เป็นอย่างดีที่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องแรกที่ ดร.ภาธร เล่น และเครื่องนี้เองก็ยังเป็นเครื่องที่ ดร.ภาธร นำไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานทุนให้ไปเรียนดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก จึงเกิดความผูกพันกับเครื่องนี้มาก ปัจจุบันเครื่องนี้ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว เพราะ ดร.ภาธร อยากจะเก็บไว้ในสภาพที่ดี

Jazzophone Trumpet
คุณสันติ พรประเสริฐ เจ้าของ “หจก. รีแพร์โมดิฟายด์แอนด์ซัพพลายส์บายบอยซ์” เป็นผู้ประดิษฐ์ Jazzophone ขึ้นพิเศษ เพื่อทูลเกล้าถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สามารถทรงทรัมเป็ตได้โดยไม่ต้องยกพระกรขึ้น เมื่อนำมาทูลเกล้าถวาย พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการปรับแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช

Vibratosax limited edition #009
คุณปิยพัชร์ ธัญญะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวเบรโต จำกัด ผู้ผลิตแซ็กโซโฟนขึ้นจากพลาสติก ประเภทโพลิคาร์บอเนต เป็นรายแรกของโลก ได้ทูลเกล้าถวาย Vibratosax limited edition #009 ให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อใช้ทรงดนตรีในช่วงที่ทรงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช เนื่องจากแซ็กโซโฟนประเภทนี้ จะมีน้ำหนักเบากว่าแซ็กโซโฟนทั่วไป

Selmer Mark VI Alto Saxophone
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นเครื่องที่สองต่อจาก King Alto Saxophone เพื่อใช้ในการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

Piano Upright Steinway
เปียโนเครื่องนี้อยู่ในห้องส่งวิทยุ อ.ส.วันศุกร์ วงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” หรือ “อัมพรสถานวันศุกร์” เป็นวงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ชื่อนี้มาจากการที่เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. อัมพรสถาน ในทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จนเมื่อครั้งที่ อ.แมนรัตน์ ครบรอบวันเกิดปีที่ ๗๒ ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า “เปียโนหลังนี้ข้าพระพุทธเจ้าเล่นมา ๕๐ ปี จึงเกิดความผูกพันเป็นอย่างมาก” ต่อมาไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงรับสั่งให้ส่งเปียโนไปให้ช่างจูนซ่อม และพระราชทานให้ อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ถึงที่บ้าน

Stainer Baritone saxophone
วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ร่วมกันสั่งผลิตพิเศษ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบาริโทนแซ็กโซโฟนแบบประทับนั่งได้ โดยบริษัท Stain ประเทศบราซิล ซึ่งมีตัวเดียวในโลก

Yamaha Trumpet
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร ให้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ก่อนหน้านั้นไม่นาน มีศิลปินอเมริกันที่ชื่อว่า “Benny Carter” มาเปิดการแสดงที่ประเทศไทย และได้มาเล่นถวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลกที่สามารถเล่นได้ทั้งแซ็กโซโฟนและทรัมเป็ต เพราะวิธีการเล่นนั้นแตกต่างกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้หนึ่งที่สามารถเล่นได้ทั้ง ๒ เครื่อง และในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงทรัมเป็ตเหมือนกัน จนมีอยู่วันหนึ่งท่านก็เสด็จมาที่ห้องส่ง อ.ส.วันศุกร์ พร้อมกับทรัมเป็ตตัวนี้ และทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร แล้วรับสั่งว่า Benny Carter ซึ่งพระองค์ท่านหมายความว่าให้ ดร.ภาธร เล่นได้ทั้งแซ็กโซโฟนและทรัมเป็ต ปัจจุบัน ดร.ภาธร นำเอาไปแกะลวดลายอย่างสวยงาม และเก็บไว้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ “คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ ควอเทียร์แกลเลอรี่ ชั้น M ดิ เอ็มควอเทียร์