บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: PRAEW.COM | เผยแพร่เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๐๑๗
ผู้เขียน: บะหมี่กุ๊งกิ๊ง
ในห้วงแห่งความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงอยู่ “สนามหลวง” อันเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ โดยมีฉากหลังเป็นภาพความวิจิตรงดงามของพระบรมมหาราชวังอันตระการตา กำลังปรับพื้นที่เพื่อเป็น “ทุ่งพระเมรุ” สำหรับประดิษฐาน “พระเมรุมาศ” ท่ามกลางคราบน้ำตาของคนไทยที่ยังไม่เหือดแห้ง
ตามธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา การสร้าง “พระเมรุมาศ” จะถูกเตรียมการทันทีที่พระเจ้าอยู่หัวสวรรคต โดยมีข้อกำหนดตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อยาวนาน มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัย ภายใต้คติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมอันซับซ้อน ที่ปรากฏออกมาเป็นผลงานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามและยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย
เนื่องในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานพิธีบวงสรวงยกเสาเอกพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงไปแล้วเรียบร้อย วันนี้ แพรวดอทคอม จึงขอนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเตรียมการพระเมรุมาศบุษบก ๙ ยอด เพื่องานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มาให้ได้รับทราบกัน

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดเผยแบบพระเมรุมาศ งานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ หลังจากที่กรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบ โดยใช้เวลาประมาณเดือนเศษ นับแต่วันเสด็จสวรรคต ผ่านการเสนอคณะรัฐมนตรี และผ่านการทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพระวินิจฉัย แล้วสรุปรูปแบบพระเมรุมาศที่ดำเนินการก่อสร้างในครั้งนี้เป็นรูปทรงบุษบกตามแบบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่พระเมรุมาศครั้งนี้มี ๙ ยอด ยิ่งใหญ่โอฬารกว่าที่ผ่านมา
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการออกแบบครั้งนี้ว่า ได้กำหนดกรอบแนวคิดตามอย่างโบราณราชประเพณีไว้ ๓ ประการ คือ
๑. ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งล่าสุด คือเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และตลอดรัชสมัยที่ผ่านมา ก็มีเพียงงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
๒. ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ โดยยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยานั้นไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน จึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
๓. การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อว่า “พระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพตามระบบเทวนิยม”
ซึ่งจาก ๓ แนวคิดหลักนี้ ได้ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ คือ แบบทรงยอดบุษบก องค์หลักจะอยู่กึ่งกลาง อันหมายถึง “เขาพระสุเมรุ” อีก ๘ มณฑป ที่อยู่รายรอบนั้นหมายถึง “เขาสัตบริภัณฑ์” อันหมายถึงระบบจักรวาล
สำหรับในส่วนงานสถาปัตยกรรมที่ต้องก่อสร้างอาคารแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย
พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณีรูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูงถึง ๕๐.๔๙ เมตร มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูงมี ๗ ชั้น ชั้นบนที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วยสำซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ ๙ ยอด
พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูงขนาด ๔๔.๕๐ เมตร ยาว ๑๕๕ เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า โดยเตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีประมาณ ๒,๘๐๐ ที่นั่ง ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อรองรับพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะที่จะเดินทางมาร่วมพระราชพิธีจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังมี ศาลาลูกขุน เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม และ ทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา
๒. กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง ส่วนลวดลายประกอบ ทั้งที่เป็นชั้นฐาน หรือประติมากรรมที่ประกอบในพระเมรุมาศ ทั้งหมดจะสะท้อนถึงเรื่องระบบจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นชั้นครุฑ ชั้นเทพ หรือเทวดา รวมถึงสัตว์หิมพานต์
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นพิเศษในครั้งนี้คือ เสาโคม จะใช้เป็นเสาครุฑ เพราะครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ โดยแนวคิดสมมุติเทพนั้น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งงานพระเมรุที่ผ่านมาล้วนเป็นเสาหงส์ สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์ จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ ด้านงานเรื่องศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยึดตามคติความเชื่อของระบบจักรวาล อันเกี่ยวกับสมมุติเทพทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างพระโกศจันทน์และพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐินั้น แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และได้ลงมือดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ขั้นตอนที่ได้ดำเนินการต่อมาคือ พิธีบวงสรวงบูรณปฏิสังขรณ์พระราชรถและพระราชยานมาศ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ และมีพิธียกเสาเอก พิธีตอกหมุดจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม และล้อมรั้วเพื่อเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งทุกอย่างกำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน ๒๕๖๐ นั่นหมายถึงว่า พระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งคนไทยทั้งมวลไม่อยากให้มาถึง จะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้


ทางด้าน นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศองค์ประวัติศาสตร์นี้ได้เล่าว่า
“แรกสุดที่ผมได้รับการประสานงานจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองอธิบดีกรมศิลปากร ให้ออกแบบพระเมรุมาศ ผมได้สเก็ตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกไว้ ๓ รูปแบบ คือ ๑. พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว ๒ พระเมรุมาศทรงบุษบก ๕ ยอด และ ๓. พระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด สาเหตุที่สเก็ตช์ไว้หลายแบบเพราะ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผมได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านมาตลอด ท่านสอนไว้ว่า การออกแบบให้เจ้านายนั้นควรเตรียมทางออกไว้หลายๆ ทาง เพื่อตอบคำถาม ดังนั้นผมจึงสเก็ตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกที่เคยมีมาในอดีตทั้งหมด นั่นคือ พระเมรุมาศทรงบุษบก ๕ ยอด คล้ายกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ ๕ พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว คล้ายกับของรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๘ แต่สำหรับพระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอดนั้น ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน
ส่วนตัวผมชอบทรงบุษบก ๙ ยอดมากที่สุด เพราะสื่อถึงรัชกาลที่ ๙ แต่ตอนเขียนแบบคืนนั้น หลังจากเขียนเสร็จแล้วยังรู้สึกไม่สุดใจ จนใกล้รุ่งราวตี ๔ สายตาเหลือบไปเห็นภาพพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ปักหมุดไว้ข้างฝาในห้องทำงาน ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เห็นแล้วขนลุก และเกิดไอเดียในการจัดวางยอดที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอิสระ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่งานในการออกแบบพระเมรุ ท่านอธิบดีได้นำผมเข้ากราบบังคมทูลถวายรายงานในวันที่ ๑๕ ตุลาคม เพื่อทรงพระวินิจฉัย
พระองค์ท่านรับสั่งว่า “สวยหมดทุกแบบ” แต่ทรงปรารภว่า “ไม่ให้เหมือนที่เคยมีมา” ถึง ๓ ครั้ง ท้ายที่สุดทรงเลือกทรงบุษบก ๙ ยอดนี้ รับสั่งว่า “อิสระ ลดหลั่น สวยงาม” แล้วมีรับสั่งถามผมว่า แล้วคนออกแบบชอบแบบไหน ผมกราบบังคมทูลตอบว่า “ชอบแบบ ๙ ยอดครับ” พูดราชาศัพท์ผิดๆ ถูกๆ เพราะตื่นเต้น
ผมไม่ได้ภูมิใจที่ทรงเลือกแบบที่ผมเขียน เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากจะให้มีการใช้พระเมรุมาศเกิดขึ้น เพราะการออกแบบพระเมรุแต่ละครั้งหมายถึงการสูญเสียพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายแต่ละองค์ไป แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของคนกรมศิลป์ที่ต้องถวายงานในการออกแบบให้ดีที่สุด ในตอนนั้นผมยังได้กราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับศิลปกรรมที่จะใช้ตกแต่งพระเมรุมาศ พระองค์ท่านรับสั่งว่า “ให้เป็นจินตนาการของศิลปิน”
หลังการเข้าเฝ้าฯ ผมกลับมาปรับแบบให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะต้องมีหีบพระบรมศพและพระบรมโกศประดิษฐานบนจิตกาธานด้วย โดยต้องมีเตาน้ำมันวางซ่อนอยู่ในจิตกาธาน ทั้งนี้ที่ไม่ใช้เตาไฟฟ้า เพราะควบคุมการไหม้ยาก ไม่สะดวกต่อการใช้งาน และการใช้เตาไฟฟ้ายังปลอดภัยน้อยกว่าเตาน้ำมันด้วย
หลังจากนี้ การลงมือก่อสร้างพระเมรุมาศก็จะคืบหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกฝ่ายที่รับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ก็ดำเนินการไปอย่างเต็มที่ บางคนอาจคิดว่า ทำไมทำพระเมรุมาศของพระองค์ท่านใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยไม่คิดถึงพระราชดำริในเรื่องความพอเพียง ซึ่งผมอยากบอกว่า พระองค์ท่านไม่เคยมีรับสั่งในเรื่องการทำพระเมรุ แต่การออกแบบพระเมรุมาศคือการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่รู้กันดีว่าพระองค์ท่านทรงเป็น “คิงออฟเดอะคิงส์” ดังนั้นพวกเราจึงตั้งใจทำถวายให้สมพระเกียรติที่สุด”
=========
อ้างอิงที่มา: นิตยสารแพรว ปักษ์ 898 วันที่ 25 มกราคม 2560 คอลัมน์ บทความพิเศษ