บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: มติชนออนไลน์ | เผยแพร่เมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
ภาพโดย: กำธร เสริมเกษมสิน
ว่ากันว่า “ภาพหนึ่งภาพสามารถถ่ายทอดเรื่องราวแทนตัวอักษรได้มากกว่าร้อยพันคำพูด” ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดูจะเป็นสิ่งที่สื่อแทนพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรไทยได้ดีที่สุดเช่นกัน
นั่นเพราะไม่เพียงแต่จะเป็นภาพถ่ายบันทึกความทรงจำ แต่พระอัจฉริยภาพด้านภาพถ่ายนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญในการทรงงานของพระองค์ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระปรีชายิ่งในศิลปะแขนงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ และการถ่ายภาพสไลด์ก็เป็นงานอดิเรกที่ทรงโปรดมาก ความสนพระราชหฤทัยด้านการถ่ายภาพ นับได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เนื่องด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงซื้อกล้องถ่ายรูปยี่ห้อ Coronet Midget ให้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระชนมพรรษาราว ๘ พรรษา และเพราะเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวเอง ผู้ถ่ายจึงต้องมีความชำนาญมากในการวัดแสงให้แม่นยำ
และเมื่อทรงดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าตามเสด็จสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช นิวัติประเทศไทยคราวใด ก็จะเห็นพระองค์ทรงสะพายกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทุกแห่งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป

เช่นเดียวกับเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ กล้องถ่ายรูปถือเป็นอุปกรณ์ทรงงานคู่กาย ที่ทรงใช้ฉายพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และทรงใช้บันทึกภาพประชาชนและภาพเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ นอกจากเป็นภาพถ่ายที่มีศิลปะและความงดงามแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาชั้นดี เช่น สภาพภูมิประเทศที่เหมาะกับการสร้างเขื่อนและฝายต่างๆ หรืออย่างเช่นเมื่อครั้งน้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ได้ทรงถ่ายภาพจุดสำคัญๆ ไว้เป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมครั้งต่อไปนับได้ว่า ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างดี
ในช่วงหนึ่ง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ปรากฏให้เห็นใน “หนังสือสแตนดาร์ด” ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร จนพระองค์มีรับสั่งด้วยพระราชอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดว่า “ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ ๑๐๐ บาท อยู่เรื่อยมา”
ซึ่งการจะถ่ายภาพให้ดีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานคำแนะนำให้แก่คณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ไว้ว่า
“การถ่ายรูปนี้ ตอนถ่ายรูปก็ต้องอาศัยความรู้เบื้องต้นที่ได้มาจากหนังสือคู่มือ ต่อจากนั้นก็ต้องมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์บ้าง คือหมายถึงว่า จะใช้เลนส์อย่างไร ยาวแค่ไหน จะได้รูปอย่างไร หรือบิดเบี้ยวอย่างไร ซึ่งเมื่อผู้ที่่ถ่ายรูปเล่นๆ โดยไม่รู้เรื่องก็ไม่เข้าใจ ขั้นต่อไปก็ต้องดูว่าใช้ฟิล์มชนิดไหน จะได้รูปที่ชัดหรือไม่ชัด หรือที่จะมีรูปภาพนิ่ง จะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ แล้วแต่ความรู้ว่าจะใช้ฟิล์มอะไร ต่อจากนั้นก็ส่งไปให้ที่ร้านให้ล้าง ก็ไม่รู้เรื่องทีเดียว นอกจากถึงขั้นตอนที่ผู้ได้สนใจในการถ่ายรูปลึกซึ้งเข้าไปอีก ทราบถึงวิธีการ กรรมวิธีต่างๆ ของการถ่าย เช่น การถ่ายและล้างรูป และอัดรูป ก็จะได้สามารถแจ้งให้ผู้ที่จะล้างรูปหรืออัดรูปปฏิบัติตามความรู้สึกหรือความต้องการ ยิ่งลึกเข้าไป คือผู้ที่ปฏิบัติการล้างรูปเอง และได้สามารถที่จะนำวิทยาการต่างๆ มาประสมประเสในรูปนั้นออกมาคนละอย่าง แม้จะได้ถ่ายออกมาอย่างหนึ่ง แล้วมาประสมประเส หรือมาใช้วิธีการต่างๆ ก็ออกมาอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับที่ออกมาเดิม นั่นก็เป็นวิทยาการในห้องมืดทั้งหมด นี่ก็รวมเป็นศิลปะการถ่ายภาพ”

และนี่ยังเป็นหนึ่งความสุขที่พระองค์พระราชทานให้ผู้รับชม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่ว่า
“รูปที่ถ่ายเราก็ตัดไปให้เลือกพิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความสบายใจ เพราะว่าการถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและก็พอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป …”
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพด้วยพระองค์เอง ทั้งภาพขาวดำและภาพสี นับเป็นพระปรีชาสามารถที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน พระองค์ทรงจัดทำห้องมืดขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างสรรค์ภาพให้เป็นศิลปะที่ถูกต้องและรวดเร็วด้วยพระองค์เอง และยังทรงเป็นนักคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการถ่ายภาพ ครั้งหนึ่งทรงใช้แผ่นกรองแสงเป็นแผ่นใส ส่วนบนเป็นสีฟ้า ส่วนด้านล่างเป็นสีแสด ทำให้เมื่อถ่ายภาพออกมาได้ภาพที่งดงามแปลกตา และการคิดค้นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีบริษัทผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูปใด คิดค้นแผ่นกรองแสงดังกล่าวขึ้นใช้มาก่อน
ทำให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “เข็มทองคำศิลปะภาพถ่าย” แด่พระองค์ เช่นเดียวกับราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร ได้กราบบังคมทูลเชิญให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคม และสมาคมสหพันธ์ศิลปะการถ่ายภาพนานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “เกียรติบัตรสูงสุด” เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณว่าทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในศิลปะการถ่ายภาพ

กล้องถ่ายภาพของพระราชา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีกล้องส่วนพระองค์นับ ๒๐ ตัว บางกล้องทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นกล้องใหม่อยู่เสมอ และในระยะหลังบริษัทกล้องหลายแห่งได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เนื่องในโอกาสต่างๆ บ้าง เก็บไว้เป็นกล้องคู่พระราชหฤทัยบ้าง พระราชทานให้บุคคลและหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพต่อไป อาทิ
- กล้อง Coronet Midget ของฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพระราชทานให้ศึกษานับแต่มีพระชนมพรรษาราว ๘ พรรษา มีสีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคาเพียง ๒ ฟรังก์สวิส และยังมีฟิล์มราคาถูก
- กล้อง Elax Lumie”re ผลิตขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งทรงใช้บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติกลับเมืองไทย
- กล้อง Contax II ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงได้มาจากสิงคโปร์ โดยทรงใช้เลนส์ Zeiss-opton No.821255 กับ Zeiss-opton No.885584 Sonar 1:2 f.50 mm. เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นกล้องที่นำสมัยในสมัยนั้น ปัจจุบันพระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.๙
- กล้อง Canon A-1 เป็นกล้องญี่ปุ่นตัวที่ ๒ นับแต่เริ่มทดลองใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งเคยมีพระราชปรารภกับผู้ใกล้ชิดว่า “เขาว่ากันว่า ตัวกล้องญี่ปุ่นใช้ไม่ทน แต่ทรงลองใช้ดูแล้ว ทรงเห็นว่าใช้ได้ ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย” สำหรับกล้องแคนนอนรุ่นนี้ มีพระราชปรารภว่า “ใช้ง่ายเกินไป และไม่ค่อยเหมาะกับพระหัตถ์นัก”
- กล้อง Minolta Weather Matic 35DL เป็นกล้องรุ่นใหม่ในขณะนั้น สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงทดลองใช้เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของกล้องถ่ายภาพ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพกต์แบบต่างๆ หลายรุ่น อาทิ Canon Autoboy Tele 6 Lens 35-60 mm. f/3.5-5.6.
- กล้อง Ricoh EF-94 เป็นกล้องที่ทรงจับสลากได้ และในปีต่อมา จึงได้พระราชทานกล้อง Pentax AF ZOOM 35-70 mm. กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom ให้เป็นของขวัญจับสลาก
- กล้อง Cannon EOS 30D เป็นกล้องที่พระองค์ทรงใช้ถ่ายรูปประชาชน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากโรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒


















