บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ผู้จัดการ Online | ลุยกรุง & รอบกรุง | เผยแพร่เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะในหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรี ด้านการถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม ด้านวรรณกรรม และหัตถกรรม ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะ “อัครศิลปิน” จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก ในพระปรีชาสามารถ นอกจากนี้พระองค์ทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด
ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ทูลเกล้าถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และรวบรวมจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะของพระองค์ท่านไว้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บจัดแสดงและสงวนรักษาผลงานของศิลปินแห่งชาติ ที่ “หออัครศิลปิน” แห่งนี้

“หออัครศิลปิน” ก่อสร้างขึ้นบนเนื้อที่ ๕ ไร่ ตั้งอยู่ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นที่ราชพัสดุ ลักษณะอาคารเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ ๓ ชั้น เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสถานที่แสดงผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านหัตถกรรม, ด้านวรรณศิลป์, ด้านจิตรกรรม, ด้านถ่ายภาพ และด้านภูมิสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติอีกด้วย ภายใต้แนวคิด “อัครศิลปินรายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์”

โดยจัดแบ่งเป็นห้องต่างๆ บนพื้นที่ ๓ ชั้น แยกเป็นห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพของอัครศิลปิน และนิทรรศการเผยแพร่ ประวัติ ผลงาน ของศิลปินแห่งชาติทุกท่าน โดยใช้สื่อผสมที่ทันสมัย ได้แก่ วิดิทัศน์ คอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย วีดิโอซีดี ให้คนที่มาเยี่ยมชมได้เพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น

โดยเริ่มต้นกันที่ชั้น ๒ จัดแสดง “อัครศิลปิน” เป็นห้องจัดแสดงผลงานพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในด้านต่างๆ ตรงกลางห้องของอาคาร ซึ่งเป็นจุดสำคัญของหออัครศิลปิน เป็นที่ประดิษฐานบุษบกไม้ประดับกระจกปิดทอง ภายในบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ จำลองบนพานแว่นฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์ “อัครศิลปิน” โดยแบ่งส่วนต่างๆ ดังนี้
ด้านจิตรกรรมฝีพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สนพระราชหฤทัยงานด้านจิตรกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนเองและทรงศึกษาจากตำราต่างๆ เมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงทอดพระเนตรวิธีการทำงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่างๆ พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เท่าที่ปรากฏแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ลักษณะหนึ่งเป็นภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) อีกลักษณะหนึ่งคือ คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) และที่ได้เห็นกันช่วงหลังๆ เป็นศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism) จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งแบ่งออกเป็นแนวทางต่างๆ ดังกล่าวนั้น มิได้หมายความว่า พระองค์ทรงเขียนตามวิธีการในศิลปะนั้น หากแต่ลักษณะการแสดงออกเป็นไปในแบบอย่างที่ใกล้เคียงกัน เทคนิคที่ทรงใช้มากในการเขียนภาพคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ


ด้านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่่ ๙ ทรงชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ และการถ่ายภาพสไลด์ ก็เป็นงานอดิเรกที่โปรดมาก พระองค์สนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ยามเมื่อตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชนิวัติประเทศไทยคราวใด ก็จะเห็นพระองค์ทรงสะพายกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทุกแห่งที่ได้เสด็จฯ ไป เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ทรงฉายพระรูปสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และบันทึกภาพประชาชน ภาพเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย


ด้านหัตถกรรม
งานหัตถกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ที่สำคัญคือการต่อเรือใบ เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดกีฬาเรือใบ และมีความสนพระราชหฤทัยในงานช่าง จึงโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และได้ทรงทดลองแล่นเรือในสระในสวนจิตรลดา โดยเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรก ต่อเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ ชื่อ “เรือราชปะแตน” เรือลำต่อมา ชื่อ “เรือเอจี” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระองค์ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค โดยเรือใบประเภทนี้ลำแรกที่ทรงต่อ คือ “เรือนวฤกษ์” จากนั้นทรงต่อเรือใบประเภทนี้อีกหลายลำด้วยกัน ก่อนจะทรงเริ่มหันมาต่อเรือใบประเภทม็อธ ซึ่งเป็นเรือใบที่กำหนดความกว้างยาวของตัวเรือ โดยพระราชทานชื่อว่า “เรือมด” “เรือซูเปอร์มด” และ “เรือไมโครมด”

ด้านวรรณศิลป์
นำเสนอพระปรีชาสามารถด้านการทรงใช้ภาษาในงานวรรณกรรมของพระองค์ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงทั้งความสนพระราชหฤทัยในเรื่องต่างๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดเรื่องนั้นๆ ออกมาเป็นตัวอักษร พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์จะเห็นได้จากผลงานพระราชนิพนธ์ซึ่งพระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ “พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘” พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” และ “ติโต” นอกจากนี้ ยังมีบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอีกจำนวน ๑๐ บทความ และผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่กล่าวขานอย่างที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง “พระมหาชนก”

ด้านภูมิสถาปัตยกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชภารกิจเกี่ยวกับโครงการสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอันหลากหลาย ด้วยสื่อวีดิทัศน์และภาพพระราชกรณียกิจหลากหลายโครงการ
ในส่วนของชั้น ๓ จัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านคีตศิลป์
พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ นั้น พระองค์ท่านมีความสามารถทางด้านดนตรีอย่างมาก โดยพระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” ขึ้นเป็นเพลงแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน รวมทัังสิ้นกว่า ๔๓ เพลง โดยมีบทเพลงที่คนไทยคุ้นเคย อาทิ ชะตาชีวิต ยามเย็น ใกล้รุ่ง พรปีใหม่ นอกเหนือจากการพระราชนิพนธ์เพลง พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิด โดยมีเครื่องดนตรีที่โปรดปราน เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต นอกจากนี้ยังทรงกีต้าร์และเปียโนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนั้นภายในตู้จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงดนตรีขนาดใหญ่กลางห้องฉายภาพ

นอกจากนั้น “หออัครศิลปิน” ยังจัดแสดงห้องนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม และสาขาศิลปะการแสดง จัดแสดงรายชื่อศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ จนถึงปัจจุบัน พร้อมภาพถ่ายและลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงผลงานและผลงานชิ้นเยี่ยม หากต้องการค้นคว้าข้อมูลประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ สามารถค้นคว้าได้จากคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียที่รวบรวมข้อมูลไว้โดยละเอียดได้ที่นี่


พระปรีชาความเป็นเลิศในศิลปะหลากหลายแขนงของพระองค์นั้น ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปิน สมดังพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
===================
หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๙๘๖-๕๐๒๐-๔