บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: praew.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
เครดิตภาพ: อั๋น
“WE ARE THAI”
ลลิสา จงบารมี
นอกจากฝีมือการวาดภาพแล้ว เธอยังมีสายตาเฉียบในการเสพงานศิลปะ เพื่อการเก็บสะสม ในฐานะอาร์ตคอลเล็คเตอร์ตัวเอ้อีกด้วย และหนึ่งในหลายคอลเล็คชั่นที่เธอเก็บสะสมคือ “พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จากฝีมืออันหลากหลายของศิลปินระดับบรมครู
“เพราะอะไรจึงเก็บสะสมพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงหรือคะ” เธอทวนคำถาม “ย้อนไปเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ระหว่างที่ดิฉันเดินทางจากเมืองไทยจะไปซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา มีสามี–ภรรยาชาวอเมริกันคู่หนึ่ง ซึ่งกลับจากการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เขาถามดิฉันว่า เป็นคนไทยใช่ไหม และยังบอกด้วยว่าเขาอยากเกิดเป็นคนไทย เพราะทำให้ไม่รู้จักคำว่า ‘กำพร้าพ่อ’ เขาภูมิใจแทนคนไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ที่เป็นพ่อหลวงของคนไทยทั้งประเทศ เป็นกษัตริย์ที่รักปวงชนชาวไทย ซึ่งเปรียบเสมือนลูกทุกหย่อมหญ้า นาทีนั้นดิฉันรู้สึกตัวเองขนลุก ภูมิใจ น้ำตาแทบไหล ขนาดคนต่างชาติยังพูดว่า เขาอยากเกิดเป็นคนไทย แม้ว่าช่วงนั้นดิฉันยังอยู่ต่างประเทศ แต่เราก็รู้สึกถึงความร่มเย็นและปลอดภัยด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน”
“คนไทยอาจไม่ค่อยมีโอกาสคุยเรื่องเหล่านี้กันสักเท่าไร แต่เรามักได้สัมผัสคนที่อยากมีและอยากเป็นอย่างคนไทย เพราะฉะนั้นพวกเรามีบุญอย่างยิ่งที่เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ทุกวันนี้ดิฉันภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งเบื้องบน เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่ปกป้องคุ้มครองเสมอ เห็นพระองค์ท่านทีไรก็มีแต่ความภาคภูมิใจ”
“ความที่เรารักพระองค์ท่าน แต่ไม่สามารถใกล้ชิดหรือสัมผัส พระบรมรูปจึงเป็นเหมือนตัวแทนของพระองค์ท่าน ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักสะสมศิลปะ จึงเลือกสะสมพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่เขียนโดยศิลปินชื่อดัง ตั้งแต่ผลงานของอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ซึ่งไม่ค่อยเขียนรูปคน แต่ท่านเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงทรงแซกโซโฟน เป็นภาพแนวแอ็บสแตร็คท์ แนวคิวบิสม์ หรือผลงานของอาจารย์ศุภกิจ อุตตรนคร ศิลปินไทย ซึ่งขายงานอยู่ที่เยอรมนีเป็นหลัก และไม่ค่อยได้วาดภาพแบบไทยเท่าไร แต่วาดภาพโครงการข้าวสีทอง ที่พระองค์ท่านทรงปลูกที่ทุ่งหันตรา เพื่อให้เห็นว่า พระองค์ท่านทรงเป็นที่รัก เป็นขวัญใจ และเป็นพ่อของเกษตรกรไทย ข้าวของพ่อหลวงเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเกี่ยวข้าวที่ทุ่งหันตราด้วยพระองค์เอง เป็นพระบรมรูปที่เห็นแล้วรู้สึกกินเข้าไปในกระดองใจคนไทยว่า ข้าวต้องเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้มีผลงานของอาจารย์สมยศ คำแสง ที่ปาดเครยองเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ชิ้นแรกและชิ้นเดียว”
ส่วนหลักการเลือกเก็บภาพในหลวงของคุณลลิสาง่ายมาก เธอบอกว่า “ผู้เสพงานศิลปะส่วนใหญ่ซื้อรูปเพราะชอบ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าการสัมผัสด้วยโสตแรกคือ ตา และถูกตา คือเห็นแล้วต้องตา หรือรู้สึกชอบเลย แต่สำหรับดิฉันจะซื้อหรือสะสมรูปนั้นต่อเมื่อสนทนากับเราได้ ทุกรูปที่ดิฉันซื้อ จึงต้องมีชีวิตและลมหายใจ โดยที่เรามองภาพนั้นแล้วสามารถสื่อความรู้สึกถึงกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นรูปที่ศิลปินเขียนด้วยจิตและวิญญาณ ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์
“เวลาดิฉันมองพระบรมสาทิสลักษณ์หลายๆ องค์ ที่เลือกมา ล้วนสัมผัสได้ถึงพระเมตตาบารมีในสายพระเนตร รอยแย้มสรวลที่ส่งจากข้างใน ถ่ายทอดออกมาเป็นความห่วงใยประชาชน รักและเอื้ออาทรต่อประชาชน ทำให้เห็นชัดเจนว่า ทรงรักและห่วงใยประชาชนอย่างไร สิ่งนี้จึงกลายเป็นความผูกพันที่พวกเรามีต่อพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นบ้านทั้งสิบเอ็ดหลังในที่ริมน้ำที่อยุธยาของดิฉัน จึงมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่านประดิษฐานไว้หมด เพราะรู้สึกว่าทรงเป็นเหมือนเทพประจำบ้าน มีพระองค์ท่านแล้วปลอดภัย มีพลัง เมื่อไรที่รู้สึกท้อ แค่มองแววพระเนตรจะรู้สึกเหมือนได้พลังกลับมา จนสะกดคำว่า ‘ท้อ’ และ ‘ปัญหา’ ไม่เป็น เพราะในหลวงทรงรับสั่งเสมอว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลัวหรือกลุ้ม”
“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบทูลถามพระองค์ท่านว่า ทรงท้อบ้างไหม มีพระราชกระแสตอบว่า “ฉันท้อไม่ได้ … เพราะเดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง คือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ” โอ้โฮ … เราอ่านแค่นี้รู้สึกเลยว่า เราเป็นแค่ผู้นำครอบครัว ผู้นำองค์กรเล็กๆ จึงไม่กล้าพูดคำว่าท้อ ถ้ายังมีวันพรุ่งนี้ มีแสงตะวันขึ้น เราท้อไม่ได้ และดิฉันเชื่อว่า คนอีกมากมายที่เคยรู้สึกท้อ แต่เมื่อเห็นพระราชภารกิจของพระองค์ท่านแล้ว ทำให้ฮึดกลับมาสู้ได้อีกครั้ง ดิฉันพูดเสมอว่า คนไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่ง จึงเชื่อว่าคนไทยทำได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ หากเรารู้จักความมานะพยายาม อดทน และเปลี่ยนจากความฝัน ให้เป็นความจริงที่จับต้องได้”