บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: praew.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
เครดิตภาพ: โยธา รัตนเจริญโชค
“ในหลวง” ของผมคือ “ภูมิพลโพธิสัตว์”
ชูศักดิ์ วิษณุคํารณ
แค่เอ่ยชื่อ “อาจารย์ชู” ก็เชื่อว่าศิลปินวาดภาพลูกศิษย์ลูกหาหลายคนคงรู้จักผลงานเขาดี ในฐานะศิลปินสร้างสรรค์พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมานานกว่า ๑๕ ปี และอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปินคนเดียวที่ได้รับเลือกให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยความสูงเท่ากับตึก ๔ ชั้น อีกหนึ่งผลงานที่เขาภูมิใจและเผยให้แพรวเห็นเป็นที่แรก ยังไม่รวมอีกหนึ่งผลงานเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ของพระองค์ท่านด้วยความยาว ๘๐ เมตร ที่ทําให้รู้ว่าคนไทยโชคดีกว่าใครในโลก
“ผมวาดรูปเลี้ยงชีวิตมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนรูปสวยงามที่คนซื้อไปประดับบ้าน” อาจารย์ชู ชื่อที่ลูกศิษย์เรียกติดปากเปรยกับเรา ก่อนเล่าถึงภาพไฮไลท์สําคัญ “พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงยืนคู่กันสูง ๘ เมตร จะนําไปติดที่อาคารสินธร เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ปี ๒๕๕๘ จะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงและพระราชินีใหญ่ขนาดนี้ ส่วนมากที่เราเห็นกันคือ เขาเขียนขึ้นเป็นคัตเอ๊าต์ขนาดใหญ่ในช่วงวันสําคัญๆ ที่มีพิธีการที่ท้องสนามหลวง พอหมดหน้าเทศกาลก็รื้อออก ถ้าไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนก็ทาสีทับไป แต่พระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้จะอยู่เป็นร้อยปี เพื่อให้คนรุ่นหลังเห็นว่าการเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงต้องเขียนพระราชอิสริยยศต่างๆ ให้ถูกต้องด้วย ซึ่งหลายท่านมักมองข้ามไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่นี่คือพระราชอิสริยยศของพระองค์ท่าน ถ้าเขียนผิด ภาพนี้ก็จะผิดไปนานเป็นร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้นก่อนเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้ ผมจึงหาตํารามาศึกษาให้รู้จริงเกี่ยวกับเครื่องทรงทั้งหมด ทําทุกอย่างให้ถูกต้อง เพื่อเป็นต้นแบบให้ลูกหลานศิลปินรุ่นหลัง
“ส่วนอีกผลงานหนึ่ง เป็นภาพวาดยาว ๘๐ เมตร เป็นภาพพระราชกรณียกิจตั้งแต่วันขึ้นครองราชย์ จนถึงวันที่เหลืองเต็มแผ่นดิน เป็นการบันทึกเรื่องราวของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ตาม งานชิ้นนี้จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกของมหาชนที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ใช้เวลาเขียนสามปีแล้ว ยังไม่ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจจะใช้เวลาเขียนทั้งหมด ๔ ปี แล้วนำไปติดที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติวัดด่าน พระราม ๓”
จากเดิมที่อาจารย์ชูเคยวาดภาพสวยงามขาย เพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีเวลาวาดภาพแบบอื่นเลยนอกจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว โดยมีที่มาจากเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เขาสนิทสนมกับเจ้าของห้างซีคอนสแควร์ เพราะเคยช่วยวางแผนทำโฆษณามาก่อน ช่วงนั้นห้างเพิ่งเปิดได้ปีเดียว เขาจึงชักชวนเจ้าของห้างทำกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว โดยเชิญศิลปินทั่วประเทศวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ โดยไม่มีการแบ่งรั้วแบ่งค่าย และนำพระบรมสาทิสลักษณ์เหล่านั้นมาจัดแสดง กลายเป็นต้นแบบของการจัดอาร์ตแกลเลอรี่ในห้างเพราะเหตุนี้เขาจึงเริ่มศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง
“ผมชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พอได้มาศึกษาพระราชประวัติรัชกาลที่ ๙ ทำให้รู้ว่า ความจริงพระองค์ท่านทรงหลุดจากวงโคจรการเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่ทรงย้ายไปประทับที่ต่างประเทศแล้ว ไม่มีทางที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้เลย แล้วทำไมพระองค์ท่านจึงทรงมาอยู่ตรงนี้ ทำให้ผมเข้าใจกฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปีว่า “มนุษย์เรานั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่อดีตชาติ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุบังเอิญ” ผมจึงเชื่อว่า พระองค์ท่านทรงถูกกำหนดให้มาทำคุณประโยชน์กับประเทศนี้ ทั้งที่สมเด็จย่าทรงเป็นสามัญชน แต่ทรงเป็นแม่ที่วิเศษมาก เพราะทรงเป็นแม่ของกษัตริย์ถึงสองพระองค์ และเป็นตระกูลที่ทำคุณให้แก่แผ่นดินทุกพระองค์ ตั้งแต่สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และพระองค์ท่าน เฉพาะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ก็ทรงมีโครงการในพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ มีมนุษย์คนไหนทำได้แบบนี้บ้าง ถ้าไม่ใช่ผู้มีบารมี ถ้าคุณไม่สนใจ ก็อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาว่า ก็เพราะเป็นพระเจ้าอยู่หัวนี่ แต่กษัตริย์ในประเทศอื่นมีแบบนี้ไหม หรือการที่คนใส่เสื้อเหลืองทั้งแผ่นดิน มีใครนัดคนให้ออกจากบ้านมาได้มากขนาดนี้ไหม ผู้คนในทุกจังหวัดต่างจุดเทียนชัยถวายพระพรในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีใครทำได้บ้าง ถ้าไม่ใช่เพราะพระบารมีที่สั่งสมมา ผมจึงเรียกพระองค์ท่านว่า “ภูมิพลโพธิสัตว์” และถ้าอีกเป็นแสนปี ที่มนุษย์เราต้องตายแล้วเกิดๆ ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ไม่รู้กี่โกฏิชาติ ผมเชื่อว่าต่อไปเราอาจได้เรียนรู้เรื่องราวของ “ภูมิพลโพธิสัตว์” เหมือนที่เราเรียนรู้เรื่องพระเจ้าสิบชาติอย่างพระมหาชนก พระเตมีย์ใบ้ ฯลฯ ก็เป็นได้“
“หลังจากผมอ่านและศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านแล้ว จึงคิดว่าบั้นปลายชีวิตอยากเขียนเรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวให้คนรุ่นหลังได้เห็นไปอีก ๓๐๐-๔๐๐ ปี ศิลปินประเทศนี้เกือบทุกคนที่เขียนรูปเป็นจะรู้สึกเป็นบุญกุศล และภาคภูมิใจที่ได้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งที่ผมไม่ใช่มืออาชีพเขียนพอร์เทรตเหมือนอาจารย์หลายท่านที่เป็นมือฉมัง จนผมต้องคารวะ แต่ผมเขียนด้วยความเคารพเทิดทูน ใช้ความรู้ ความสามารถของเรา เขียนจากการศึกษาและสิ่งที่เรารับรู้”
“ดังนั้นงานของผมจึงมีเอกลักษณ์คือ พระเจ้าอยู่หัวของผมต้องมีเทวดา มีความยิ่งใหญ่ มีเรื่องราวความเป็นมา ผมมีความประทับใจในพระองค์ท่าน ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดา ในความรู้สึกผม ไม่ว่าเสด็จฯ ที่ไหนจะมีเทวดาดูแล ถ้าลูกศิษย์ลูกหาผมเห็นปั๊บ ไม่ต้องดูลายเซ็นก็รู้ว่านี่คือผลงานของผม เพราะผมไม่ได้เขียนภาพพอร์เทรตโดยใส่แบ็กกราวนด์ให้มีน้ำหนักเหมือนฝรั่งมังค่าสมัยเรอเนสซองซ์ และดูเหมือนเทวดาท่านจะเมตตาผมนะ ท่านมองดูผมทำงานทุกวัน เวลาผมไม่มีสตางค์ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิตที่ธนาคารทวงมาแล้ว ผมจะไหว้พระและพูดขอเทวดา เชื่อไหมว่าทุกครั้งที่ขอ ไม่เกินสามวัน มีคนซื้อพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ผมวาดไปบูชา พระบรมรูปที่ผมวาด จึงเหมือนเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่อลังการและน่าศรัทธาของพระองค์”
จนถึงวันนี้ อาจารย์ชูยังวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวทุกวัน จำนวนเป็นร้อยองค์แล้ว มีทั้งองค์ที่มีคนมาขอซื้อไปบูชาที่บ้าน บางองค์เขาเก็บไว้ที่สตูดิโอส่วนตัว และมีองค์หนึ่งที่เขาวาดและนำไปทูลเกล้าฯ ถวายที่โรงพยาบาลศิริราช
“การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ ไม่เหมือนเขียนรูปคนธรรมดา ผมยกมือไหว้ขอพระบรมราชานุญาตก่อนเขียนทุกครั้ง เพราะการเขียนพระบรมรูปก็เหมือนเขียนรูปพระพุทธเจ้า เพราะเราเขียนของสูงที่เรานับถือ ซึ่งต้องยกมือไหว้ก่อนเขียนเหมือนกัน ในความรู้สึกผม การได้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ทุกวัน ก็เหมือนได้เข้าเฝ้าฯ ทุกวัน เขียนแล้วมีความสุข อย่างพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ผมเขียนและนำไปทูลเกล้าฯ ถวายที่โรงพยาบาลศิริราช ชื่อรูป ‘ไกลกังวล หมายเลข 2’ (เขาเล่าพร้อมกับเปิดหนังสือที่มีพระบรมรูปดังกล่าวตีพิมพ์ให้ดู) ภาพของจริง มีพยาบาล หมอ ยืนอยู่ด้านหลังพระองค์ท่านที่ประทับรถเข็น แต่ผมวาดโดยให้พระองค์ท่านทรงนั่งพระเก้าอี้สบายๆ กับคุณทองแดง พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาฯ ส่งหนังสือขอบใจมา ซึ่งผมเก็บหนังสือฉบับนั้นไว้เป็นมงคลชีวิต ไว้ให้ลูกหลานดูว่าควรเดินตามรอยพระองค์ท่านต่อไป”
“ผมคิดว่าคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อพูดถึงพระองค์ท่าน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยทั้งสิ้น แต่ผมอยากให้ทุกคนมองว่า สิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำทุกวันนี้ ทรงทำเพื่ออะไร อยากให้ตีโจทย์ตรงนี้ เรื่องความดีงามของพระองค์ท่าน คงไม่ต้องยกยอ ไม่ต้องสรรเสริญถวายพระพรให้วุ่นวาย เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจและสายเลือดพวกเราทุกคนหมดแล้ว แต่จงดูสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ และทำตามอย่างด้วยความมุ่งมั่น“
ถามว่าพระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘พระมหาชนก’ เพื่ออะไร? ทำไมจึงทรงนำเรื่องนี้มาบอกคนไทย ไม่ทรงนำเรื่องพระเตมีย์ใบ้ หรือพระวิธุรบัณฑิตมา พระองค์ท่านทรงมีนัยอย่างไร บางคนดูแค่สนุกและผ่านไป ที่มีความรู้มากหน่อยก็ไม่เชื่ออีกต่างหาก ผมคิดว่าการที่พระองค์ท่านนำเรื่องพระมหาชนกมาสอน เพราะทรงต้องการให้ลูกๆ ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด ยึดความพอเพียง และอย่าถอดใจเวลาทำภารกิจทุกอย่าง เพราะความเพียรจะนำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง “ถอดใจ … เท่ากับแพ้”