บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: praew.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
ภาพที่อยู่ในหัวใจคนไทย
ภูดิท กรรณิการ์
ภูดิท กรรณิการ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ หนึ่งในพสกนิกรผู้จงรักภักดี ที่เฝ้าเก็บสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จนวันเวลาผ่านมากว่า ๒๐ ปี
พระบรมฉายาลักษณ์เหล่านั้นได้ต่อยอดให้เกิดสิ่งดีๆ ที่เขาตั้งใจมอบให้แก่คนไทยทุกคน รวมอยู่ในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “In my heart ภาพที่อยู่ในหัวใจคนไทย”
“เกิดจากศรัทธาในความดี ศรัทธาในแบบอย่างของการดำเนินชีวิตคู่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม-ราชินีนาถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงเป็นกำลังพระทัยซึ่งกันและกัน แม้ในยามที่มีพระชนมพรรษามากแล้วก็ตาม ผมศึกษาหาข้อมูลว่าประชาชนสามารถทำเว็บเพจเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ ซึ่งทางสำนักพระราชวังยืนยันว่า ถ้าเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สามารถทำได้ “ผมทำเว็บเพจนี้ตั้งแต่สองปีก่อน ด้วยความตั้งใจอยากอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผมเก็บสะสมไว้ตั้งแต่เด็กๆ โพสต์ให้คนอื่นได้ร่วมชื่นชมพระบารมี บางวันมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ใส่เข้าไป อย่างวันนี้ วันที่ ๙ ผมจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ในอดีตมาโพสต์ว่า เสด็จพระราชดำเนินที่ไหน อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ตามวัน เช่น อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงฉลองพระองค์ประจำสีของวันนั้นๆ พร้อมด้วยบทกลอนที่ผมแต่งเอง ถ้าวันไหนตรงกับวันสำคัญ ผมจะทำเป็นสกู๊ปพระราชประวัติด้วย ซึ่งมีบ้างที่บางวันลงพระบรมฉายาลักษณ์หนึ่งองค์ แล้วเขียนว่า ทรงพระเจริญ สั้นๆ แค่นี้ เพราะผมเพียงต้องการให้คนได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เท่านั้นเอง”
จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ประกอบกับวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ทำให้อาจารย์ภูดิทนำพระบรมฉายาลักษณ์มาตัดต่อเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด
“เริ่มจากผมไปหาอาจารย์ท่านหนึ่งที่รักในหลวงเหมือนกัน แล้วได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดสุโขทัย ขณะทรงยืนอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก บ้านเกิดของผม ซึ่งตามหามานานแล้ว ผมพยายามขออาจารย์ ซึ่งท่านไม่ให้ แต่อนุญาตให้นำไปก๊อปปี้ได้ จากนั้นไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นเหตุการณ์ครั้งที่เสด็จฯ สวรรคโลกเหมือนกัน ขณะลงพระปรมาภิไธยภายในที่ว่าการอำเภอ ผมจึงได้นำมาตัดต่อรวมกันในภาพเดียว แล้วอัดขยายใส่กรอบไว้ที่บ้าน”
“ส่วนสององค์นี้นำมาแมทช์กันโดยบังเอิญ องค์แรกได้มาจากหนังสือที่ก๊อปปี้จากหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำ ครั้งเสด็จฯ อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ มาเจออีกองค์เป็นภาพสีที่ได้จากร้านถ่ายภาพในตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันแต่คนละเวลา ประมาณปี ๒๕๓๕ ผมจึงนำทั้งสองภาพมาไว้ด้วยกัน โดยให้ชื่อว่า ‘สองพระบรมฉายาลักษณ์ สองกาลเวลา’ ถือเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่สร้างความมหัศจรรย์ใจมา”
“ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์คู่องค์นี้ได้จากหนังสือหลายพันเล่มที่ผมก๊อปปี้ไว้ รวมทั้งผลงานที่ผมถ่ายเอง โดยเรียงตามพระชนมพรรษา อย่างองค์นี้ ทั้งสองพระองค์ทรงยืนไกลกัน ผมจึงนำมาตัดต่อเป็นภาพคู่”
จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มขยับขยายไปยังสื่อวิดีโอ “เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ งานฉลองพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย พระเจ้าอยู่หัวถวายบังคม และทรงจุมพิตสมเด็จย่า จากนั้นก็เป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ผมรู้สึกอยากดูอีก จำได้ว่าผมพยายามเปิดดูทุกช่อง แล้วคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ได้ สมัยนั้นที่บ้านยังไม่มีวิดีโอ จึงขอให้แม่ซื้อวิดีโอให้ บอกว่าจะมาอัดข่าวในหลวง แม่ไม่เข้าใจเหตุผล จึงไม่ได้ซื้อให้ ทำให้ผมฝังใจมาตลอดว่า ต้องซื้อให้ได้ จนได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมพยายามขอพ่อเพื่อแลกกับการทำความสะอาดบ้านทุกวัน ตอนนั้นวิดีโอเครื่องละเป็นหมื่นบาท”
“หลังจากนั้นก็เริ่มอัดวิดีโอเก็บไว้หมด ขอให้เป็นพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ได้เห็นความงดงามของพระราชพิธี จนปัจจุบันมีเกือบ ๒๐๐ ม้วน ที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เหตุผลที่ยังคงใช้วิธีการอัดวิดีโอเพราะเก็บรักษาได้ดีกว่า ถ้าเป็นซีดีแล้วหากไม่ได้เก็บไว้ในห้องแอร์ อย่างเก่งอยู่แค่ ๒-๓ ปี ก็เสีย ผมมีเครื่องเล่นวิดีโอ ๕-๖ เครื่อง กว่าผมจะตายก็ยังใช้ได้อยู่ ตอนนี้ข่าวในพระราชสำนัก ผมแปลงเป็นดีวีดีไว้หมดแล้ว ตั้งใจก๊อปปี้สำรองไว้อีกชุดหนึ่ง เพราะถ้าโดนขโมยหรือไฟไหม้ จะได้ยังมีต้นฉบับ”
“อีกสิ่งหนึ่งที่คิดจะทำคือ อยากเขียนหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากพระบรมฉายาลักษณ์’ เนื่องจากบางครั้งที่ได้พระบรมฉายาลักษณ์มา แต่ไม่ทราบว่าพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปที่ไหน ผมพยายามรวบรวมข้อมูลไว้มีเป็นปึกๆ พยายามจัดแบ่งเป็นโฟลเดอร์ให้เรียบร้อย ผมตั้งใจเก็บไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตอนนี้เก็บน้อยลงเพราะภาพเริ่มซ้ำ สะสมไว้เยอะจนแทบไม่มีที่เก็บแล้ว คิดว่าบั้นปลายชีวิต พระบรมฉายาลักษณ์ทั้งหมดผมคงมอบให้องค์กร อย่างหอสมุดแห่งชาติ ส่วนวิดีโอมอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ในใจก็ยังหวง เพราะเกรงว่าเขาจะเก็บรักษาไม่ดี”
“ผมเชื่อว่าจะมีสักวันหนึ่งที่ได้มีโอกาสโชว์ผลงาน จนเมื่อไม่นานมานี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษ-ภูวนารถ ประชุมกันว่าจะจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๙ โดยจะทำเป็นสื่อมัลติมีเดีย นำสื่อเก่าไปหาสื่อใหม่ แล้วใช้ทรัพยากรของผม ซึ่งจะกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ มาทรงเปิดงาน”
“ผมเคยนั่งทบทวนชีวิตตัวเองตลอดเวลาที่ผ่านมา ถือว่าตัวเองโชคดีมากกับการได้ทำสิ่งเหล่านี้ ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน ทำให้ผมได้พบเจอกับเพื่อนดี ชีวิตราบรื่น มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ผมเชื่อว่าเกิดจากแรงศรัทธาและความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน”