บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: praew.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
นักสะสมพระบรมฉายาลักษณ์นับพันองค์
ณรัฐ นภาวรรณ
“คุณเต้ย – ณรัฐ นภาวรรณ” มีความสนใจและสะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากมายนับพันองค์ ในทุกขนาด และบางองค์ก็มีมูลค่าสูงเกือบแสนบาท แต่เขาก็ยินดีสะสม
“ผมว่าอาจมีคนสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงมากกว่าผม เพียงแต่เขาจะเปิดตัวหรือเปล่า”
คุณเต้ยเกริ่นถึงความยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านแพรว ได้ร่วมชื่นชมพระบรมฉายาลักษณ์อันล้ำค่าในวาระอันเป็นมงคลนี้ “ผมเริ่มสะสมจากความชอบนี่ละครับ แต่ผมสะสมรวมราชวงศ์ทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพระองค์ไหน ตอนแรกที่ซื้อไม่มีความรู้เลย เพราะไม่มีครูสอน ซื้อของจริงของปลอมก็ไม่รู้ ถ้าชอบและสวยถูกใจก็ซื้อเลย ตอนหลังเริ่มรู้ว่าอันไหนของจริงของปลอม อัดด้วยกระดาษอะไร รู้เรื่องมากขึ้น ก็ไปถูกทิศถูกทาง”
“สมัยเด็กผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก่อน ก็สนใจศิลปะแฟชั่นทั่วไป เหมือนเพิ่งมาระลึกชาติได้ตอนอายุ ๓๐ ปี (หัวเราะ) สงสัยเคยเกิดในยุคก่อน เมื่อถึงเวลาจึงต้องหันมาสะสมภาพพวกนี้ ก็สะสมเรื่อยมา จนตอนนี้มีมากนับพันองค์ คิดเป็นจำนวนเงินก็เยอะอยู่ ต้องบอกว่า ผมโชคดีที่ทำกิจการส่งออกของครอบครัว และคุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุน ตอนเศรษฐกิจรุ่งๆ กิจการที่บ้านปีหนึ่ง ๓๖๕ วัน ทำงานกัน ๓๖๔ วัน บวกโอที หยุดวันแรงงานวันเดียว ทำไม่ทันจริงๆ มีออร์เดอร์ล้นข้ามปี แต่ช่วงหลังซบเซาลงมาก ผมก็ทำธุรกิจขายหนังสือเก่าออนไลน์เสริมชื่อ ‘ร้านหนังสือลุงโจ’ ”
คุณเต้ยเล่าว่า พระบรมฉายาลักษณ์องค์แรกที่เขาซื้อมาสะสมนั้น ไม่ใช่ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน “เริ่มจากว่า วันนั้นไปเดินแถวตลาดคลองถม แล้วเห็นภาพถ่ายโบราณพวกนี้วางอยู่ มีความรู้สึกว่าอยากได้ ภาพแรกที่ซื้อคือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๗ ทรงชุดนายทหาร ราคาสัก ๓,๐๐๐ บาท เป็นภาพที่ทำขึ้นใหม่ ไม่ใช่ภาพออริจินัล ซื้อโดยไม่มีความรู้อย่างที่บอก จนตอนหลังรู้มากขึ้นจึงซื้อมาเรื่อยๆ และเน้นหนักที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๙ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๘
“สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ผมซื้อสะสมไว้มากนั้น เป็นเพราะผมเรียนรู้มาว่า พระองค์ท่านทรงทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดินมากมายและผมก็เกิดในรัชสมัย ถ้าถามถึงความประทับใจส่วนตัว ผมชอบพระราชจริยวัตรในสิ่งที่ทรงทำให้ประชาชนอยู่แล้ว ทรงเปรียบเสมือนพ่อเหมือนพระ ทรงทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ไม่เคยเห็นว่าทรงมีวันหยุดจนช่วงหลังมีพระชนมพรรษามากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่เสด็จออกให้ประชาชนเห็น ก็คงเหมือนพ่อเราที่อายุ ๗๐–๘๐ ปีแล้ว จะให้ท่านออกมาเดินต๊อกๆ ทำงานให้เห็นก็คงไม่ใช่ แม้จะทรงพระประชวรอยู่ แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงงานอยู่ตลอด นี่เป็นความประทับใจส่วนตัว แล้วในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงทำประโยชน์สารพัดให้ประเทศไทยมีเอกราชอย่างทุกวันนี้ จึงเหมือนว่าผมโฟกัสไปที่พระราชกรณียกิจ และมีอินเนอร์ว่า พระองค์ท่านทรงทำเพื่อคนไทยมากมาย”
สำหรับเทคนิคในการเลือกซื้อพระบรมฉายาลักษณ์แต่ละองค์นั้นเขาบอกว่า “ตอนแรกผมเลือกซื้อจากที่เป็นพอร์เทรตก่อน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีความคมชัด สวยงาม และเป็นทางการ ตอนหลังพออินมากขึ้น บางช่วงก็ไม่มีภาพจะให้ซื้อ จึงขยายขอบข่ายเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถต่างๆ ความจริงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตามบ้านตามสถานที่ต่างๆ มีไม่กี่แบบหรอกครับ เวลาจะเลือกซื้อก็ต้องดูองค์รวม ถ้าจะดูว่าเป็นพระบรมรูปเก่าแค่ไหนก็ต้องเปิดกรอบออกมาเพื่อดูเนื้อกระดาษ ซึ่งจะดูได้จากตรงนี้ เพราะทุกวันนี้มีการทำปลอมด้วยการสแกนระบบดิจิทัล แล้วมีวิธีปรุงให้ดูเก่า หากรอบเก่าโบราณๆ ใส่ มาหลอกขายว่าเป็นของเก่าก็เยอะ ซึ่งวิธีที่จะรู้ว่าเก่าจริงไหมคือ ดูเนื้อกระดาษของภาพ เท่าที่ผมซื้อมาก็ไม่ถึงกับได้เปิดดูเสมอไป ต้องใช้ความเชื่อใจกันในการซื้อ เพราะบางทีก็เปิดไม่ได้หรอก เจ้าของเขาไม่ยอม”
“พระบรมฉายาลักษณ์ที่ผมซื้อมาทั้งหมด มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยถึงเฉียดแสน มีตั้งแต่ขนาดโปสการ์ดที่ส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยสภากาชาดไทย เพื่อนำออกจำหน่ายหารายได้เข้าการกุศลในสมัยก่อน จนถึงขนาด ๒๐x๒๔ นิ้ว ลักษณะเป็นภาพใหญ่ที่ติดตามบ้านกับสถานที่ราชการหรือสำนักงานเอกชน พระบรมฉายาลักษณ์องค์ที่แพงที่สุดคือ ราคา ๗๐,๐๐๐ บาท เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงฉลองพระองค์ทหารเรือ แม้จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่คุ้นตากัน แต่เหตุที่มีราคาแพง เพราะความคมชัด ความเก่า แต่สภาพยังสมบูรณ์ ถ้าจะหาพระบรมฉายาลักษณ์เดียวกันนี้ที่มีความคมชัดกว่าที่ผมมีอยู่จริงๆ คงหาได้ยาก
“อีกภาพที่มีราคารองลงมา ผมซื้อในราคา ๓๕,๐๐๐ บาท ได้มาจากร้านขายข้าวแกงแถวบ้านผมนี่ละ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงประดับเหรียญอิสริยาภรณ์เพียงเหรียญเดียว ในวงการเรียกว่า ‘ภาพเหรียญเดี่ยว’ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายพระรูปขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช พอเสด็จขึ้นครองราชย์ ทางสำนักพระราชวังก็ใช้พระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้เป็นทางการแทน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นทางการที่เก่าที่สุด หลังจากนั้นก็จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงประดับเหรียญเพิ่มเป็นสองเหรียญ สามเหรียญ ตอนไปขอซื้อภาพนี้ทีแรกภรรยาเจ้าของร้านไม่ยอมขาย จนผมได้เจอตัวเจ้าของร้าน เขาบอกผมว่า ถ้าจะซื้อไปขายต่อ เขาไม่ขาย ผมต้องบอกว่า จะซื้อมาเก็บไว้เพื่อสะสม และสักวันหนึ่งจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เขาก็ยินดีขายให้เลย ซึ่งราคาขายนี่ เราสามารถสำรวจในตลาดของวงการนี้ได้ว่าน่าจะประมาณเท่าไร แต่เราต้องพิจารณาเองว่า คุ้มและชอบมากพอที่จะจ่ายเงินซื้อหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ราคาโดดขึ้นมามาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิบปีก่อน ราคาขึ้นมาเกือบ ๓ เท่า กับอีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่มีของให้ซื้อด้วย เพราะถ้าไปอยู่ในมือของนักสะสมที่มีเงิน โอกาสปล่อยของออกมาก็ยาก แต่ถ้าอยู่ตามบ้านเก่า โอกาสแบบนั้นจะออกมาได้ง่ายกว่า”
คุณเต้ยตั้งข้อสังเกตถึงเหตุที่ว่า ทำไมวันนี้จึงมีคนหันมานิยมการสะสมพระบรมฉายาลักษณ์สมัยก่อนมากขึ้นว่า “คนที่หันมาสะสมพระบรมฉายาลักษณ์น่าจะเป็นคนที่มีกำลังซื้ออายุราว ๔๐–๕๐ ปี เพราะนั่นเป็นความทรงจำในวัยเด็กของเขา คนแก่กว่านั้นเขาคงไม่คิด ถ้าเด็กกว่านี้ก็ไม่มีกำลังจะซื้อ สมัยก่อนยังไม่มีคนนิยมกันมาก อย่างสิบปีก่อนผมซื้อมาองค์ละ ๑๐๐ บาท แต่วันนี้หาไม่ได้แล้ว บางองค์ราคาก็ขึ้นไปถึง ๓๐,๐๐๐–๔๐,๐๐๐ บาท แล้วแต่สภาพ ผมไม่มั่นใจเหมือนกันว่า ทำไมกลายเป็นที่นิยม อาจเป็นเพราะเขาต้องการให้เป็นหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”
“ทุกวันนี้ผมมีอยู่เป็นพันองค์นะครับ บางทีก็ซื้อมาซ้ำกัน ไม่ใช่ว่าลืม แต่คงเป็นเสน่ห์ของภาพเก่า อย่างตอนแรกที่ซื้อมา บางองค์มีรอยนิดหน่อย ไม่สวยงามสมบูรณ์ พอไปเจออีกองค์สภาพดีกว่านิดหนึ่งก็ซื้อ พอเจอองค์ที่สามสภาพดีกว่าอีกก็ซื้ออีก องค์ที่สี่สภาพไม่ดีเลย แต่เขาขายราคาถูกก็ซื้ออีก ซึ่งทุกองค์ที่ผมมี ผมไม่เคยสั่งให้ไปปลดมาจากฝาบ้านหรือสถานที่ไหนของใครมาขายผมนะครับ” (หัวเราะ)
สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีอยู่มากมายนั้น คุณเต้ยมีความฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้
“พระบรมฉายาลักษณ์ที่มีตอนนี้ ผมยังไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่เพราะยังไม่มีเวลา คิดว่าเท่าที่มีอยู่ก็มากพอจะจัดเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะต้องบำรุงรักษาปรับปรุงอีกหลายอย่าง ซึ่งผมยังไม่พร้อม และอยากใช้กำลังทรัพย์ของตัวเองมากกว่า ผมอยากทำให้คนเข้าชมได้เรียนรู้ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่า พระบรมฉายาลักษณ์สมัยก่อนเป็นอย่างไร กระดาษที่ใช้อัดรูปเมื่อก่อนเป็นอย่างไร แต่ถ้าทำจริงๆ ก็คงไม่ทำเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต มีการเก็บค่าเข้าชมมากมาย เอาแค่ช่วยเป็นค่าน้ำค่าไฟก็พอ ถามว่าฐานะผมลำบากไหม ก็ไม่ลำบาก แต่ไม่ใช่รวยล้นฟ้าขนาดนั้น ผมว่าเป็นความสุขที่ได้แบ่งปัน บางคนอยากเห็นอยากมี แต่ไม่มีโอกาส ก็ถือว่าได้แบ่งปันให้ชมกัน”