บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: praew.com | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
ขอแค่ “พอเพียง”
“ลูกน้ำ” สุคนธ์ สีมารัตนกุล
ถ้าบอกว่าชื่นชอบและหลงใหลในศิลปะและแฟชั่น อาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับกูรูเมคอัพอาร์ติสท์ชื่อดังคนนี้ แต่ถ้าเราบอกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะสมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ตั้งแต่พระบรมฉายาลักษณ์จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือโปสต์การ์ดเก่าๆ ซีดีเพลงพระราชนิพนธ์แสตมป์ แผ่นพับ ฯลฯ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะได้มาแบบแจกฟรี หรือต้องใช้สตางค์แลกมา
“ความที่ชอบเก็บสะสมหนังสือมานานกว่าสิบปีแล้ว ซื้อหนังสือทุกประเภททั้งไทยและฝรั่ง พออ่านเสร็จ จะเก็บเรียงในตู้หนังสืออย่างดี หรือถ้าซื้อแล้วขาดหนึ่งเล่มจะรู้สึกไม่สบายใจต้องหาให้ได้ครบ ทั้งปักษ์แรกปักษ์หลัง ยิ่งเห็นอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวจะชอบเก็บ ตอนหลังหนังสือหลายเล่มมักทำเรื่องพิเศษเกี่ยวกับในหลวง เพราะฉะนั้นจะมีหนังสือเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวออกมาเยอะ หนังสือพิมพ์บางฉบับตีพิมพ์ในโอกาสพิเศษ เช่น โอกาสที่พระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ ๖๐ ปี เป็นรูปใหญ่ ภาพคนไทยใส่สีเหลืองทั้งแผ่นดิน พระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกจากโรงพยาบาล ฯลฯ เรียกว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เห็นแล้วบ่งบอกเรื่องราว เป็นภาพในความทรงจำ จะซื้อเก็บเป็นตั้งๆ เก็บไปเรื่อยๆ จนตอนหลังมีจำนวนหนังสือมากขึ้น ไม่สามารถซื้อได้ทุกเล่ม ยกเว้นเล่มที่ดีไซน์แปลกๆ หรือมีรูปแบบการพิมพ์พิเศษ มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมยาก หรือเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว ฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงจะซื้อเก็บ”
“ตัวอย่างเล่มนี้เป็นหนังสือที่สำนักพระราชวังจัดทำขึ้นมา เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ต้องสั่งจอง พอทราบข่าวจึงให้น้องที่ทำงานในวังสั่งจองให้ มีเล่ม ๑ เล่ม ๒ เป็นภาพพระราชประวัติแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ การทรงงานหรือมีพระราชกรณียกิจอะไรบ้าง หรือช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป จนครบปีที่พระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ทำเป็นภาพถ่ายขาวดำอัดบนกระดาษ ใส่กรอบแบบโบราณ ทำด้วยมือ ซึ่งคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ทุกครั้งที่หยิบมาดู จะรู้สึกมีความสุข”
ไม่เฉพาะแต่ภาพถ่ายหรือหนังสือเท่านั้น ที่คุณลูกน้ำเก็บสะสมอย่างดี แม้กระทั่งพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัว ขนาดโปสต์การ์ดที่หาได้จากตลาดนัดจตุจักร ซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ แสตมป์ หรือพระบรมฉายาลักษณ์ที่เขาตัดเก็บไว้ หนังสือแจกฟรี แผ่นพับที่มีพระบรมราโชวาทของในหลวง ซึ่งดูจากสภาพเรียบกริ๊บแล้ว คะเนว่าน่าจะได้รับการเก็บรักษาอย่างดี เขาหยิบให้ดูเป็นตัวอย่าง พลางอธิบายว่า
“กระดาษแผ่นนี้เขียนว่า ‘ทำดีเพื่อพ่อ’ แม้จะเป็นแค่กระดาษใบเดียวที่ได้รับแจกตอนขับรถขึ้นทางด่วน แต่เมื่อพลิกด้านหลังและอ่าน สิ่งที่ได้ตามมามีค่าอีกมากมาย เพราะพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้หมด ถ้าเราทิ้ง ก็เหมือนกับกระดาษแผ่นหนึ่งที่ไม่มีค่า แต่ถ้าเราเก็บและได้อ่าน เราจะมีความรู้สึกว่ามีค่ามาก นอกจากเราจะปฏิบัติตัวตามที่พระองค์ท่านสอนแล้ว ยังสามารถบอกต่อคนอื่นได้อีก”
“หรืออย่างหนังสือเล่มนี้แจกฟรี เป็น หนังสือธรรมะได้มาตอนทำบุญ หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่าทรงจุมพิตพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงรักและผูกพันกับแม่ เห็นแล้วประทับใจ เพราะฉะนั้นต้องเก็บไม่ทิ้งแน่นอน หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำตอนทรงพระผนวช อยู่ปกหลังในของแมกกาซีนหัวนอก แม้จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เคยเห็นแล้ว แต่ไม่ได้คอนทราสต์สวยมากขนาดนี้ จึงตัดเก็บไว้ ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้ ทรงฉลองพระองค์เต็มพระยศ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปกหลังในของวารสาร true ซึ่งแจกฟรีให้สมาชิก เราก็ยังตัดเก็บ ไม่รู้ว่าจะหาภาพนี้ได้จากที่ไหนอีก”
ถ้าถามว่าเขานำสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนเรื่องไหนไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้คำตอบว่า
“เรื่องความพอเพียง บางคนเห็นว่าเราอยู่ในวงการแฟชั่น ดูฟุ้งเฟ้อ แต่แฟชั่นก็คือแฟชั่น แต่สิ่งที่เราพอเพียง คือ เรามีความคิดอ่านที่คอยเตือนตัวเองว่า อะไรควรมากน้อยแค่ไหน เช่น บางทีมีความรู้สึกว่าอยากได้โน่นได้นี่ แต่พอเรารู้สึกว่ามีเยอะแล้วนะ จะมีไปทำไมอีก เสื้อผ้า รองเท้า ซูเปอร์แบรนด์ที่เราซื้อ เคยใช้มาหมดแล้ว จึงกลับมาอยู่ในความพอดี แต่ไม่ใช่ไม่ซื้อเลย คือซื้อแบบเบสิก ใส่ได้นาน ไม่ใช่ตัวละสามหมื่น ห้าหมื่น เมื่อก่อนมีสตางค์ไม่มาก แต่ซื้อของแพง ตอนนี้อาจมีเงินมากกว่าเมื่อก่อน แต่กลับไม่ซื้อ เพราะมีความรู้สึกว่า ‘พอ’ แล้ว เป็นสิ่งที่มาย้ำเตือนเรา”
“อีกภาพหนึ่งที่ติดตามาตลอดคือ ภาพหลอดยาสีพระทนต์ของพระเจ้าอยู่หัวที่รีดใช้จนแบน ซึ่งพระองค์ท่านทรงทำให้เราเห็นถึงการใช้อย่างรู้คุณค่า เพราะฉะนั้นหลอดยาสีฟันของเราก็รีดจนแบนแต๋ บีบใช้จนหยดสุดท้ายเหมือนกัน คือถ้านำคำสอนของพระองค์ท่านมาวิเคราะห์ ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องความพอเพียง ซึ่งไม่มียุคสมัย ไม่ว่าอยู่จุดไหน ฐานะอย่างไร สามารถนำมาปรับใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในใจเราและรู้ว่า ‘พอเพียง’ ของแต่ละคนคืออะไร”