บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ชมรมคนรักในหลวง | เผยแพร่เมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๕๘
ผู้เขียน: ไตรเทพ ไกรงู
พระเครื่องอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องยกให้ “พระสมเด็จจิตรลดา” หรือ “พระกำลังแผ่นดิน” นั้น เข้าใจว่า ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช คำว่า “ภูมิ” แปลว่า “แผ่นดิน” ส่วนคำว่า “พล” แปลว่า “กำลัง”
จึงเป็นที่มาของพระนาม “พระสมเด็จจิตรลดา” ว่า “พระกำลังแผ่นดิน” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานพระบุญญาบารมีของพระองค์ท่าน ความมีพระราชศรัทธาปสาทะอย่างสุดซึ้งในพระบวรพุทธศาสนา และผลบุญกุศลที่พระองค์ทรงตั้งมั่นอยู่ในการประกอบแต่กรรมดี ทั้งในอดีตชาติ และปัจจุบันชาติ ช่วยดลบันดาลให้พระพุทธรูปพิมพ์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้น สูงสุดด้วยพระพุทธานุภาพ และกฤตยานุภาพ คุ้มครองให้คลาดแคล้วผองภัยพิบัติ และอำนวยความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้นำไปบูชา ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และประกอบแต่กรรมดี
นายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือเจ้าของฉายา “บอย ท่าพระจันทร์” ผู้เชี่ยวชาญวัตถุมงคลประเภทเหรียญ ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า “เหรียญที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง อันเป็นที่นิยมสูงสุด คือ เหรียญทรงผนวช ค่านิยมไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านบาท”
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงพระผนวช ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม ถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช อีกทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน”
วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศาโดย สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมี สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ซึ่งทรงได้รับสมญาจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล”
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ
นายอรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญพระคณาจารย์ของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า การจัดสร้างซึ่งเป็นเหรียญที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง
“เหรียญทรงผนวช” แยกได้เป็น ๒ บล็อก คือ บล็อกธรรมดาและบล็อกนิยม ส่วนค่านิยมนั้นเหรียญทองคำซึ่งเป็นบล็อกธรรมดา ปัจจุบันที่การเช่าหากันหลายล้านบาท ที่เห็นมีเวียนอยู่ในตลาดน้อยมากน่าจะไม่เกิน ๑๐ เหรียญ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเก็บมากกว่า นานๆ ครั้งจะมีการชื้อขาย ส่วนเนื้ออื่นๆ นั้น เนื้อเงินหลายแสนบาท เนื้อทองแดง ๑-๒ แสนบาท ส่วนเนื้ออัลปาก้า ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ต้องเป็นบล็อกนิยมเท่านั้น
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วัดบวรนิเวศวิหารสร้างเหรียญทรงผนวชเป็นที่ระลึก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยมีข้อความด้านหลังเหรียญว่า “เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ๒๙ สิงห์ ๒๕๐๘ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา”
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเหรียญที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ
๑. เหรียญที่ระลึกเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและทวีปยุโรป ถ้าเป็นเนื้อทองคำค่านิยม ๖-๗ แสนบาท เนื้อเงิน ๕-๖ แสนบาท
๒. เหรียญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่มีการจำลองพระบรมรูปเหมือนในหลวงลงบนเหรียญ พบเฉพาะเนื้อเงิน ค่านิยมประมาณ ๔-๕ แสนบาท และ
๓. เหรียญพระชนมพรรษา ๓ รอบ สร้างเมื่อปี ๒๕๐๖ หรือ เหรียญ ๓ รอบ มีด้วยกัน ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน ทองแดง และอัลปาก้า ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก สำหรับเหรียญรุ่นนี้ ที่เนื้อเงินและทองแดงมีค่านิยมเท่ากัน หรือสูงกว่าเนื้อทองคำ คือ มีค่านิยมประมาณ ๒-๓ แสนบาท ส่วนเนื้ออัลปาก้านั้น ค่านิยมเพียง ๕๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนเหรียญอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวนั้น ต่างได้รับความนิยม แต่ค่านิยมจะอยู่ในหลักพันเท่านั้น