บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัตถุมงคลที่เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีต่างๆ เป็นปฐมฤกษ์
๑๒. วัตถุมงคลชุด ภ.ป.ร. สร้างศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พ.ศ. ๒๕๓๕
วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดปทุมวนาราม ก่อนเสด็จฯ มายังลานปฏิบัติธรรมที่สร้างขึ้นชั่วคราว
ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชปรารภถึงการสร้างศาลาเป็นการถาวร เพื่อสงเคราะห์พุทธบริษัทที่มาฝึกอบรมปฏิบัติธรรมได้สะดวกสบายขึ้น และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รับผิดชอบดำเนินการโครงการ “ศาลาพระราชศรัทธา” และ “มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา” พร้อมเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
ส่วนเงินทุนในการก่อสร้าง คณะกรรมการที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เป็นประธาน มีมติให้จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อสมนาคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนสร้าง ประกอบด้วย “พระพุทธรูปบูชาพระเสริม ภ.ป.ร.” และ “พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์นวปทุม ภ.ป.ร.” พร้อมวัตถุมงคลอื่นๆ
ในการนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อวัตถุมงคลเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๕
๑๓. พระกริ่ง ภ.ป.ร. ธรรมศาสตร์ ๖๐ ปี เหรียญพระพุทธสิหิงค์ ภ.ป.ร. ๖๐ ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๗
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการสถาปนา คณะกรรมการจัดงานฉลองฯ มีความเห็นเป็นโอกาสอันเป็นสิริมงคล ดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นอนุสรณ์
ในการนี้ คณะกรรมการจัดงานฉลองฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญตราสัญลักษณ์ “อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.” ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ฐาน “พระกริ่ง” และด้านหลัง “เหรียญพระพุทธสิหิงค์” เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันพุธที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๗ เวลา ๑๖.๓๐ น.
๑๔. เหรียญพระมหาชนก รุ่นแรก พ.ศ. ๒๕๓๙
พระมหาชนก คือ พระโพธิสัตว์หนึ่งในพระชาติ ๑๐ พระชาติสุดท้าย ก่อนจะทรงอุบัติขึ้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาดกวรรณคดีในพระพุทธศาสนา เรื่องการบำเพ็ญพระบารมีในส่วนของพระวิริยบารมี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชศรัทธาปสาทะในพระจริยาวัตรของพระมหาชนก ในการทางบำเพ็ญพระวิริยบารมี ทรงพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เพื่อทรงชี้แนะให้เห็นถึงความเพียรที่บริสุทธิ์เป็นคุณธรรมที่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และเป็นมรดกทรงธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวไทยสืบไป
นอกจากหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดพิมพ์แล้ว ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจัดสร้าง เหรียญพระมหาชนก ควบคู่กับหนังสือ
เหรียญพระมหาชนก เป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นควบคู่กับหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” เปิดให้ผู้สนใจสั่งจอง ๒ แบบ ๒ ราคา คือ
๑. ชนิดราคา ๕๐,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย หนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” จำนวน ๑ เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนก ๓ กษัตริย์ คือ เหรียญพระมหาชนกเนื้อทองคำ จำนวน ๑ เหรียญ เหรียญพระมหาชนกเนื้อนาก จำนวน ๑ เหรียญ และเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงินจำนวน ๑ เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน และกล่องบรรจุเป็นสีน้ำเงิน
๒. ชนิดราคา ๕,๐๐๐ บาท ประกอบด้วยหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” พร้อมเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน จำนวน ๑ เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยกล่องบรรจุหนังสือฯ และเหรียญเป็นสีแดง
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙ มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์