บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๒๕๑๕ (ตอนที่ ๑)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ใกล้กับทำเนียบองคมนตรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณี และเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมทั้งทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม”
หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสสเทโว) หรือ สามเณรสา ผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๘ ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่ เป็นเวลา ๓ วัน
เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการ รัชกาลที่ ๔ ทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย สำหรับเจ้านาย ข้าราชการ ฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น ด้วยใกล้พระบรมมหาราชวัง
ในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดไว้ มีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปราสาทเจดีย์, ปรางค์ขอม, หอพระจอม, หอไตร เป็นต้น
ด้วยธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก เขตสังฆาวาสจึงห้ามสตรีผ่านเข้าออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบัน
นับได้ว่า วัดราชประดิษฐฯ เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่งพระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ นับเป็นศุภวาระมงคลวโรกาสที่วัดราชประดิษฐฯ มีอายุ ครบ ๑๐๘ ปี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิมมหาเถระ) เจ้าอาวาสในขณะนั้น เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปาโมกข์” ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้งานสมโภชครบ ๑๐๘ ปี ครั้งนี้ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมเสด็จฯ ทรงเป็นประธาน ในพิธีนี้อีกด้วย
กำหนดจัดงานระหว่าง ๑๖-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑. สมโภชวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงที่มีอายุครบ ๑๐๘ ปี
๒. สมโภช “พระนิรันตราย” องค์ประจำวัด ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประจำวัดธรรมยุต ตามพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ
๓. จัดสร้างพระนิรันตรายจำลอง (ขนาดบูชา) พร้อมกับ “พระกริ่งนิรันตราย” และ “พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา)” หรือ “พระกริ่งโสฬส รุ่น ๒” (รุ่นแรกสร้างเมื่อครั้งจัดงานสมโภชครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗) จากนั้นยังมีเหรียญพระนิรันตราย อีก ๒ แบบ คือ “เหรียญพิมพ์พัดยศ” ที่เรียกว่า “เหรียญเจริญยศ” และ “เหรียญพิมพ์เสมา” ที่เรียกว่า “เหรียญเจริญลาภ” รวมทั้ง “พระชัยวัฒน์นิรันตราย” “พระกริ่งนิรันตรายแบบปั๊ม” ตลอดจน “เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐฯ”
รวมถึง “ล็อกเกตพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” ขณะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่ “พระธรรมปาโมกข์” (ทิม อุฑาฒิมมหาเถระ)