บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: ข่าวสดพระเครื่อง | เผยแพร่เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
เหรียญทรงผนวช ปี ๒๕๐๘
วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระชนมายุเสมอสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการกุศล ๔ อย่าง อันเรียกว่า “จาตุรงคมงคล”
ในการนี้ วัดบวรนิเวศวิหารได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง “เหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวช” และนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับ “พระพุทธรูป ภ.ป.ร.” เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๘
ตามบันทึกของวัดบวรนิเวศฯ ได้ระบุรายละเอียดการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวช ดังนี้
“อนึ่ง วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขอพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญพระบรมรูปทรงผนวช ซึ่งมีพระเจดีย์อยู่อีกด้านหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานจาตุรงคมงคลครั้งนี้ เหรียญที่สร้างชิ้นนี้มีรูปกลมขนาดเหรียญบาท ด้านที่มีพระบรมรูปทรงผนวชมีอักษรพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นลายพระราชหัตถเลขาทรงไว้ในสมุดทะเบียนวัดว่า “ภูมิพล อดุลยเดช ปร ภูมิพโล” อยู่ภายใต้พระบรมรูป เบื้องบนมีอักษรว่า “ทรงผนวช ๒๔๙๔” ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรูปพระเจดีย์วัดบวรนิเวศ ๒๙ สิงห์ ๒๕๐๘ มีอักษรเป็นวงกลมล้อมรอบเหรียญว่า “เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา” และเหรียญทั้งหมดได้นำเข้าในพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ด้วย”
ตามที่วัดบวรนิเวศฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวช ดังได้ยกบันทึกของวัดบวรฯ มาอ้างอิง มีกำหนดการประกอบพิธีเป็นเวลา ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๗-๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘
พระราชพิธีพุทธาภิเษกหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. และพระกริ่ง ภ.ป.ร. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ดังกล่าว คือ การพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังกล่าว คือ พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. และพระกริ่ง ภ.ป.ร. ทั้งหมด ด้วยวิธีการหล่อนำฤกษ์ชนวนโลหะแล้วนำไปสร้างด้วยกรรมวิธีปั๊ม พร้อมสร้างเหรียญพระบรมรูปทรงผนวช และนำมาเข้าพิธีดังกล่าวครบทั้ง ๓ วัน
ประการสำคัญที่สุด คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธี ในวันที่ ๒๗-๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ ทำให้เหรียญพระบรมรูปทรงพระผนวชรุ่นแรกนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ส่วนจำนวนสร้างนั้นไม่ทราบ ด้วยวัดบวรนิเวศฯ ไม่มีการบันทึกไว้ ทราบแต่เพียงมีหลายขนาด ที่ได้รับความนิยม คือ ขนาดเล็ก เนื้อที่จัดสร้างมีทั้ง ทองคำ เงิน อัลปาก้า ทองแดง และทองเหลือง สำหรับเนื้อทองแดงและทองเหลือมีทั้งชนิดกะไหล่ทอง กะไหล่เงิน และกะไหล่นาก แต่มีน้อยพบเห็นได้ยากมาก
ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช นั่งขัดสมาธิ ด้านบนพระบรมรูป เขียนคำว่า “ทรงผนวช ๒๔๙๙”
ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปพระมหาเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร ขอบเหรียญด้านบน เขียนคำว่า “เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองวัดบวรนิเวศ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘” ขอบเหรียญด้านล่าง เขียนคำว่า “ในมงคลสมัย พระชนมายุเสมอพระราชบิดา”
“เหรียญทรงผนวช” แยกได้เป็น 2 บล็อก คือ บล็อกธรรมดา (บล็อกปกติ) และบล็อกนิยม (มีรอยเว้าที่ขอบเหรียญตรงหูห่วง) เป็นเหรียญที่นับวันจะยิ่งทรงคุณค่ายิ่งขึ้น กอปรกับพุทธลักษณะแม่พิมพ์อันสวยงาม ถึงแม้ในสมัยนั้นจำนวนการสร้างค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมแสวงหาอย่างสูงตลอดมา ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
สำหรับความนิยมนั้นมีมาก และกลายเป็นสุดยอดวัตถุมงคลยอดนิยมของวงการพระเครื่องไปแล้ว