บทความนี้เป็นบทความที่คัดลอกมา
ที่มา: คมชัดลึก | เผยแพร่เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖
เรื่องและภาพ: ไตรเทพ ไกรงู
พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร และพิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒.๐ เซนติเมตร สูง ๓.๐ เซนติเมตร มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน
พุทธลักษณะพระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุด อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่พระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระปางมารวิชัย
มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิ่น และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผงรวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน ๑ คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มี ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก สำหรับพระราชทานให้เด็ก มีจำนวน ๔๐ องค์ โดยสี่องค์แรก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์ ฉะนั้นจึงมีเพียง ๓๖ องค์เท่านั้น ที่อยู่ในความครอบครองของพสกนิกร และตามประวัติทรงพระราชทานให้เพียง ๒ ปีเท่านั้น คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘ – พ.ศ. ๒๕๐๙
พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้พสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดีแก่ประเทศชาติ โดยทรงมิได้เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือชั้นผู้น้อย จนมาถึงคนขับรถ คนสวน แม่ครัว และบรรดาข้าราชการทหารที่ไปร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ เช่น เวียดนามและลาว ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงจะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้แก่นายทหารเหล่านั้นในจำนวนที่ไม่มากนัก ซึ่งจะทรงมีพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เองว่าจะมีพระราชทานหรือไม่ จำนวนเท่าใด
สำหรับภาพพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กองค์นี้เป็นของนายปรีชา ชัยรัตน์ เจ้าสัวตัวจริงเมืองอุดร ผู้ซึ่งเป็นประธานจัดงานประกวดพระเครื่องเมืองอุดร ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๖ นี้ โดยในวันงานจะนำพระเครื่องที่สะสมซึ่งมีการประเมินมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑ พันล้าน มาโชว์เป็นครั้งแรกด้วย ที่สำคัญคือ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้ “มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า จ.อุดรธานี ” เพื่อก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศาลเจ้าปู่-ย่า จ.อุดรธานี